ขสมก. เปิดกรุนำ 2 อู่รถเมล์ บางเขน,มีนบุรี มูลค่าที่ดินราว 2,000 ล้าน ชงคมนาคมไฟเขียวพัฒนาเชิงพาณิชย์ หวังปลดภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท ก่อนเสนอ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯคาดประมูลปลายปีหน้า “สุระชัย” เล็งผุดคอมมิวนิตีมอลล์รับ 2 เส้นทางรถไฟฟ้า สีเขียว-ส้ม
นายสุระชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยถึงแนวทางการเร่งปลดภาระหนี้และปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูว่าเตรียมนำเสนอผู้บริหารขสมก. กระทรวงคมนาคม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้นำอู่รถ ขสมก.บางเขนบนพื้นที่ 11 ไร่ และอู่รถขสมก.ที่ตลาดมีนบุรี พื้นที่ 12 ไร่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้เพื่อเร่งปลดภาระหนี้ที่ปัจจุบันมีกว่า 1 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุน ความคุ้มค่าการลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4-5 เดือนนี้
โดยที่ดินอู่บางเขนมีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ มูลค่าที่ดินปัจจุบันราว 1,000 ล้านบาท ขณะนี้เป็นทั้งสำนักงานเขตการเดินรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง ที่จอดรถ โดยภายหลังการพัฒนาจะให้รถเวียนมารับ-ส่งเท่านั้นจะไม่ให้มีรถจอดในพื้นที่ ไม่มีการซ่อมบำรุงและไม่มีสำนักงานตั้งอยู่อีกต่อไป ส่วนด้านหน้าอู่บางเขนจะมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ตั้งอยู่ซึ่งได้ให้ออกแบบทางเชื่อมรองรับเอาไว้แล้ว โดยรูปแบบการพัฒนาเหมาะจะลงทุนโครงการคอมมูนิตี้มอลล์รองรับความต้องการของหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ สำหรับอู่มีนบุรีขนาดพื้นที่ 12 ไร่ มูลค่าที่ดินราว 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันตั้งอยู่ในย่านชุมชนตลาดมีนบุรีซึ่งเป็นอีกหนึ่งทำเลทองที่เหมาะสำหรับนำไปพัฒนามากกว่าจะใช้เป็นที่จอดรถขสมก.เช่นในปัจจุบัน
“การพัฒนาเชิงพาณิชย์ 2 อู่จอดรถขสมก.คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในอีก 4-5 เดือนนี้ รายได้ก้อนแรกตั้งเป้าไว้จำนวน 300 ล้านบาท และยังจะรับต่อเนื่องทุกปี ๆละ 100 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าสู่การปฏิบัติตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556 ต่อไป กำหนดระยะเวลาไว้ประมาณ 30 ปีคาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จปี 2560 และปลายปี 2560 จะได้ตัวผู้รับจ้าง สำหรับรถที่เคยจอดอยู่ในอู่บางเขนและมีนบุรี ขสมก.จะได้จัดหาพื้นที่แห่งใหม่รองรับ อาทิ พื้นที่ใต้ทางด่วน เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนอู่จอดรถที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ อู่แสมดำ อู่สวนสยาม และอู่รังสิต ยังไม่มีแผนนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นอู่ที่อยู่ในซอยจึงรอการพัฒนาในระยะต่อไป”
ทั้งนี้นายสุระชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าเสนอจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 200 คันนั้นคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในปลายเดือนพฤศจิกายนหรือช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 พร้อมกับการเสนอขออนุมัติปรับปรุงรถเก่าอีกจำนวน 672 คัน รวมมูลค่าทั้งหมดราว 2,600 ล้านบาท “เมื่อครม.อนุมัติเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งเสนอบอร์ดขสมก.เห็นชอบเปิดประมูล โดยจะมีการเร่งประชุมบอร์ดในช่วงเดือนธันวาคมนี้ให้เร็วขึ้น ขณะนี้รูปแบบรายละเอียด(สเปค)เสร็จเรียบร้อยแล้ว มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาความล่าช้าจนเกิดการฟ้องร้องเช่นกรณีการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันเบื้องต้นนั้นกำหนดราคากลางไว้สำหรับรถขนาด 12 เมตรให้เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล
“โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)ศึกษาราคากลาง ประมาณคันละ 10 ล้านบาท(ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยจะมีค่าบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปีทั้งนี้จะมีการทยอยรับมอบเป็นงวด ๆจนครบทั้ง 200 คันภายใน 300 วัน อีกทั้งช่วงระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ยังได้เชิญผู้ประกอบการเอกชนเข้ารับฟังรายละเอียดกว่า 10 ราย และมีคณะผู้สังเกตการณ์ในการร่างทีโออาร์ครบทุกหน่วยงาน กรณีในครั้งนี้ได้นำเอาปัญหาที่เปิดประมูลเอ็นจีวีที่ผ่านมาปรับทีโออาร์ให้เหมาะสม ใช้ระยะเวลาร่างราว 5 เดือน”
ด้านนายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวแต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาในภายหลัง โดยเรื่องนี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ประธานบอร์ดขสมก.ได้ลงพื้นที่อู่มีนบุรีและมีแนวคิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากเหมาะสำหรับการนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์มากกว่า แต่จะย้ายอู่มีนบุรีออกไปจากพื้นที่ไปอยู่ที่จุดอื่นแทน
“ตลาดมีนบุรีสภาพปัจจุบันแออัดอย่างมากหากสามารถยกระดับสภาพพื้นที่ให้ดีขึ้นเข้า-ออกได้สะดวกก็ต้องเร่งดำเนินการ แต่ไม่อยากให้ย้ายจุดจอดรถออกไปไกลมากเพราะจะส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ประกอบกับช่วงก่อนนี้ขสมก.และการเคหะแห่งชาติได้เซ็นเอ็มโอยูเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับพนักงาน โดยจะใช้แนวทางผ่านพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ระดมทุนไปพัฒนา รูปแบบก่อสร้างคอนโดมิเนียมให้เช่าระยะยาว 30 ปี นำร่องพื้นที่อู่บางเขน ริมพหลโยธินติดแนวรถไฟฟ้าต่อขยายสีเขียวหมอชิต- สะพานใหม่-คูคต ขณะที่อู่ย่านตลาดมีนบุรี เกาะแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้ม ตามด้วยอู่รังสิต ที่เชื่อมสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วจัดรถชัตเติ้ลบัสรับ-ส่งจากอาคารที่พักไปยังจุดจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกด้านให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559