กทม.เปิดช็อป 63 ตึกร้าง ‘เคเอสที’กำพันล.ลุยซื้อซากคอนโดฯ-โรงแรม-ออฟฟิศ

23 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2560 | 17:10 น.
เจ้าของธุรกิจเครื่องซักผ้าแบรนด์ “อิมเมท” กำเงิน 1,000 ล้านลุยซื้ออาคารร้างทำเลใจกลางเมือง ด้าน กทม.เตรียมประกาศเชิญชวน นักลงทุนเงินเยนช็อป หลังมท.1 ไฟเขียว ขยายกฎกระทรวงต่อใบอนุญาตสร้าง-ดัดแปลงอาคารต่อให้จบ

แผนกู้ซากอาคารร้างในเขตกรุงเทพมหานคร63 อาคารเริ่มมีความหวัง นับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เมื่อกลุ่มทุนเริ่มสนใจทาบซื้อหลังจากกทม.และกรมโยธาธิการและผังเมือง ผลักดันให้อาคารเหล่านั้นสร้างให้เสร็จตามกฎหมายเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

ต่อเรื่องนี้ นายทวีศักดิ์ มหชวโชค ประธานกรรมการบริษัท เคเอสที เช็นทรัลซัพพลายจำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สนใจซื้ออาคารร้างในเขตกทม.ประมาณ 2-3อาคาร ความสูงประมาณ 20-30 ชั้นเพื่อนำไปพัฒนาให้เช่าต่อ ประเภท โรงแรม คอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงาน โดยทำเลต้องมีศักยภาพ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้รถไฟฟ้าเดินทางสะดวก อาทิ อาคารในซอยโปโล อาคารย่านเพลินจิต เป็นต้นเบื้องต้นจะสำรวจก่อนคาดว่าเงินที่เตรียมไว้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ จะเจรจาซื้อต่อจากเจ้าของอาคารหรือ เจ้าหนี้ในราคาถูกไม่เกิน100 ล้านบาทต่อ 1 อาคาร

สำหรับบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ผลิตเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ใช้ในโรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล ขายทั้งในประเทศแลส่งอกต่างประเทศแล้ว ยัง ขยายธุรกิจทำโรงงานที่พัทยา ซึ่งเมื่อกทม. ต้องการแก้ปัญหาอาคารร้างบริษัทจึงสนใจ

ด้านนายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธากรุงเทพมหานครย้ำว่า หากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เห็นชอบตามที่ กทม.เสนอ ขยายอายุ

ใบอนุญาตอาคารร้าง ให้สามารถก่อสร้างดันแปลงให้แล้วเสร็จก็จะ ออกประกาศเชิญชวน เจ้าของอาคาร และ นักลงทุนที่สนใจ นำอาคารดังกล่าวไปพัฒนาต่อ ก็จะช่วยให้อาคารร้างเหล่านั้นหมดไป และช่วยแก้ปัญหา แหล่งซ่องสุมอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี

สำหรับกฎกระทรวงที่หมดอายุ และขอขยายอายุโดยใช้ใบอนุญาตก่อสร้างเก่าเพื่อก่อสร้างอาคารร้างให้แล้วเสร็จออกไปอีก 7 ปีนับตั้งแต่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือ กฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารสำหรับอาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ พ.ศ.2552 ผ่อนผันเป็นเวลา 5 ปีและอายุลงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557

ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ย้ำว่า กทม.แจ้งมาว่าเหลืออาคารร้าง 63 อาคาร อย่างไรก็ดีคงต้องสำรวจก่อน โดยจะยกร่างกฎกระทรวงขึ้นใหม่ และให้มีผลบังคับใช้เฉพาะกลุ่ม

ที่เป็นอาคารร้างที่เหลือ โดยให้เจ้าของอาคารสามารถนำใบอนุญาตเก่ามาใช้ขออนุญาตก่อสร้างได้ แต่มีเงื่อนไขว่า แบบก่อสร้างเดิมเคยขออนุญาตอาคารไว้ 30ชั้นแต่ สร้างค้างถึงชั้น ที่ 20 ก็จะอนุญาตให้สร้างให้จบแค่ชั้นที่ 20เท่านั้น โดยไม่ให้สร้างต่อ จนถึงชั้นที่30 ตามแบบหรือกรมจะยึดตามกฎกระทรวงฉบับ57 คือ สร้างค้างถึงชั้นไหนก็ให้ก่อสร้างให้จบแต่ชั้นที่ค้าง

สำหรับอาคารสร้างค้างช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกทม. กว่า 500 อาคาร ซึ่งเป็นอาคารสูงตั้งแต่ 3ชั้นขึ้นไป ที่ผ่านกรมได้ผ่อนผันให้ใช้ใบอนุญาตเก่า มายื่นขออนุญาตสร้างต่อให้เสร็จ เป็นเวลา 5ปี แต่ปรากฏว่ามีคนมายื่นขออนุญาตไม่มาก เพราะมองว่าหาคนซื้อไม่ได้

ขณะที่ นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า อาคารร้างเพลินจิตอาเขต คุณหญิงพจมาน ชินวัตรสมัยนั้นซื้อทำโรงแรม ซึ่งคาดว่าจะเปิดไม่นานนี้ ส่วนอาคารอื่นๆ อย่างอาคารในซอยโปโล คาดว่าติดปัญหาเรื่องจำกัดความสูงที่กทม.ออกข้อบัญญัติควบคุมความสูงบริเวณศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ไม่เกิน 23 เมตร แต่หาก ผ่อนผันให้สร้างสูงได้ เอกชนก็สนใจ เพราะราคาที่ดินทำเลดังกล่าวสูงมากกว่า 4-7 แสนบาทต่อตารางวาขึ้นไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560