โดย บากบั่น บุญเลิศ
คิดให้รอบคอบ ก่อนลดโทษอาญาคนจ่ายสินบน
กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์กำลังลุกลามบานปลายไปยังมาตรการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มีแนวคิดว่าจะแก้ไขกฎหมาย โดยลดโทษผู้ให้สินบนไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่ให้รับผิดเฉพาะทางแพ่ง และจะกันไว้เป็นพยานเพื่อให้ยอมบอกข้อมูลผู้รับสินบน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" ไปไกลถึงขนาดว่า จะเสนอให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้กฎหมายว่าด้วยการให้สินบนโดยเลิกเอาผิดเอกชนที่จ่ายสินบนหากยอมเปิดเผยข้อมูลกับรัฐ
หลักคิดดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างของสังคมไทย เพราะอาจนำมาซึ่งปัญหาที่ต่างมาอีกมากมาย
" สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวคิดว่าจะแก้ไขกฎหมาย โดยลดโทษผู้ให้สินบนไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่ให้รับผิดเฉพาะทางแพ่ง และจะกันไว้เป็นพยานเพื่อให้ยอมบอกข้อมูลผู้รับ
ตามที่นายกฯ ระบุว่า "การให้สินบนของบริษัทโรลส์ -รอยซ์ให้ชดใช้ทางแพ่งก็จบ เขาจะได้มาให้ข้อมูล" และยังระบุว่า "สินบนมี 2ประเภท คือ ให้เพราะถูกเรียก และให้เพื่อเอาผลประโยชน์" นั้น สมเกียรติบอกว่า"มองเห็นต่าง" เพราะสินบนทั้ง 2 แบบ ลักษณะไม่เหมือนกันและควรต้องถูกปฏิบัติโดยกฎหมายไม่เหมือนกันด้วย
ประเภท"ให้เพราะถูกเรียก" เวลาติดต่อราชการแล้วถูกดึงเรื่อง ทั้งๆที่เรามีสิทธิตามกฎหมาย เพราะข้าราชการอยากได้อะไรก็แล้วแต่เรื่องแบบนี้ถ้าให้สินบนไป แล้วผู้ให้สินบนมาช่วยแฉข้าราชการ จนคดีไปสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ให้ทำแบบที่นายกฯ พูดได้เลย อย่าเอาผิดคนให้สินบนหรือคนที่ถูกเรียก เขาจะได้มีแรงจูงใจมาให้ข้อมูลข้าราชการที่ทุจริต
แต่ไม่ควรใช้แนวคิดแบบเดียวกันนี้ กับผู้ให้สินบนประเภท"เพื่อหวังผลประโยชน์ " เช่น ให้สินบนเพื่อให้ได้สัมปทาน โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะการให้สินบนแบบนี้ไปสร้างการได้เปรียบ-เสียเปรียบในการแข่งขัน เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ กรณีแบบนี้ควรเอาผิดเช่นเดิม ไม่ควรไปแก้ไขกฎหมายให้คนให้สินบนหลุดพ้นจากความผิดทางอาญาไปได้
กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ เป็นการซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ใช่การซื้อความสะดวกในการติดต่อกับราชการ
ครั้นมาพิจารณาหลักคิดของเนติบริกร" วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยใช้มาตรา 44 ลดโทษอาญาคนให้สินบนว่า เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว ซึ่งหลักมีอยู่แล้วว่า มีคนรู้อยู่ 2 คน คือคนให้และรับสินบนที่สมประโยชน์กัน ถ้ามีพยานหลักฐานที่สามารถเอาจากที่อื่นมามัดทั้งผู้รับและผู้ให้ได้ ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะไปยกเว้นความผิดกับผู้ให้สินบน
แต่ถ้ากรณีที่พยานหลักฐาน มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหลักมีอยู่แล้วว่า"ผิดทั้งคู่" กรณีแบบนี้อัยการอาจจะขอกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้เป็นพยาน ซึ่งในอดีตอาจมีปัญหาว่า จะกันใครระหว่างผู้ให้กับผู้รับให้มาเป็นพยานโดยจะกันฝ่ายไหนก็ได้ ซึ่งหากอัยการจำเป็นต้องเลือกก็มีหลักพิจารณาอยู่แล้ว โดยอัยการจะต้องชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างความผิดของคน 2 คน ฝ่ายไหนร้ายแรงกว่ากัน จะได้กันอีกฝ่ายหนึ่งไว้เป็นพยานของแผ่นดิน
แนวทางส่วนใหญ่ที่เคยปฏิบัติมา จะกันราษฎรไว้เป็นพยาน ซึ่งกรณีแบบนี้กฎหมายเอาผิดทั้งคู่ เพียงแต่ไม่สั่งฟ้องฝ่ายหนึ่งนั้นเอง ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยหลักแห่งความยุติธรรม ในการเอาคนใดคนหนึ่งมาเป็นพยาน และในปัจจุบันก็มีกฎหมายคุ้มครองพยาน
คำถามที่ตามมา แล้วจะนำมาตรา 44 มาแก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้เอกชนจ่ายเงินสินบนที่เป็นต้นธารแห่งการยั่วใจให้ทุจริตทำไม
ในความเป็นจริงแล้ว หากรัฐบาลศึกษาข้อมูลในกฎหมายของ ปปช.ที่มีการแก้ไขใหม่ก็จะพบว่า มีความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเอาผิดทางแพ่งและอาญาเอกชนที่ร่วมมือกันทุจริตกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ ถึงขนาดเขียนไว้เป็นกฎหมายแล้ว
โดยเมื่อกลางปี พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มโทษเอาผิดคนให้สินบนเท่าคนรับ รวมทั้งเอาผิดกับนิติบุคคลและกรรมการเสียด้วยไป
โปรดอย่าว่า ในทางการกระทำแล้ว “ผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ริเริ่ม สมยอมหรือจำยอม ย่อมถือว่ามีความผิดร่วมกัน”โดยเด็ดขาด
แต่หากรัฐบาลจะหาช่องดูแลผู้ให้ข้อมูลเพื่อเอาผิดข้าราชการ โปรดชายตาไปดูในมาตรา 103/6 ของกฎหมายปปช. ก็มีมาตรการดูแลเอกชนอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไข ให้ยุ่งยาก
กล่าวคือ กฎหมายในมาตรการนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า “บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายอื่น หากได้ให้ถ้อยคํา หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล อันเป็นสาระสําคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทําผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่นนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรจะกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกําหนด”
รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายเดิมได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขให้เมื่อยตุ้ม ที่ผ่านมามีการใช้ในรูปแบบนี้มาแล้วในคดี การปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย มีอดีตกรรมการบริหารอย่างน้อย 2 คน ที่ถูกกันตัวเป็นพยานในการให้ข้อมูลกับ ปปช. และอัยการ จนนำไปสู่คำพิพากษาจำคุกอดีตกรรมการธนาคาร คณะผู้บริหารธนาคาร 20-30 คน ที่ร่วมกันปล่อยกู้ เพราะรับคำสั่ง “นายใหญ่” จนสร้างความเสียหายให้กับธนาคาร
แต่ถ้ารัฐบาลใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายเปิดช่องให้เอกชนที่จ่ายสินบนหลุดคดีทางอาญา แล้วเราจะไปส่งเสริมให้กระบวนการสร้างธรรมาภิบาลของภาคเอกชนเข็มแข็งขึ้นได้อย่างไร จุดยืนของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้บิดเบี้ยวไปได้
ยิ่งนำมาใช้โดยอำนาจของทหารและรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะยิ่งกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดข้อวิพากษ์ วิจารณ์ ในระยะยาวได้
อย่าทำลายบรรทัดฐานที่ดี เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผลเลยขอรับนายท่าน
คอลัมน์ : ทางออก นอกตำรา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3234 ระหว่าง วันที่ 9-11 ก.พ.2560