“อารียา พรอพเพอร์ตี้”กางแผนปั๊มรายได้โต 35%โกยเม็ดเงิน 6,500 ล้านบาท โหมรุกโครงการแนวราบทั้งทาวน์โฮมและบ้านหรู เตรียมเปิดตัวที่อยู่อาศัยเอาใจคนรุ่นใหม่เจน Z นำเทคโนโลยีนวัตกรรมทันสมัยมาใช้ เร่งลดยอดปฏิเสธสินเชื่อที่สูงกว่า 40%
ในกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของวงการ บริษัทอารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) มีแนวทางการทำธุรกิจที่มีบุคลิกเฉพาะตัว เกิดจากแนวคิด ให้ส่วนขาด เติมส่วนเพิ่มเช่นในอดีตเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาบ้านเดี่ยวในสไตล์รีสอร์ตหรือ โครงการ เอ สเปซ คอนโดมิเนียมสำเร็จรูปที่เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ในเมืองด้วยจุดขาย”มาแต่ตัว” และปี 2560เตรียมเปิดโฉมที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่เจน Zจากการระดมความคิดคนรุ่นใหม่ในบริษัทช่วยกันพัฒนา
นายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี กรรมการบริหาร บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์แข่งขันสูง แนวทางการดำเนินธุรกิจของอารียา เน้นการผสมผสานระหว่างโครงการแนวราบและแนวสูง โดยสัดส่วนยังคงอยู่ที่ 70% และ 30% แบ่งเป็นตลาดที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ 70% และลักชัวรี 30% ทั้งนี้ในปี 2560 วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 11 โครงการ รวมมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นแนวราบ 7 โครงการ มูลค่ารวม 7,050 ล้านบาท แนวสูง 4 โครงการ 1.69 หมื่นล้านบาท ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพราะบริษัทยังไม่มีนโยบายบุกตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในต่างจังหวัดจะนิยมสร้างบ้านมากกว่าซื้อบ้านจัดสรร
[caption id="attachment_133938" align="aligncenter" width="503"]
วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี กรรมการบริหาร บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)[/caption]
ตามแผนไตรมาส 1 ปีนี้ เปิด 2 โครงการ มีโครงการทาวน์โฮม เดอะ คัลเลอร์ วงแหวน-รามอินทรา 4และโครงการบ้านหรู ดิ เอวา เรสซิเดนซ์ อ่อนนุช บ้านเดี่ยวราคาหลังละ 30 ล้านบาท จากนั้นไตรมาส 2 วางแผนเปิดถึง 7 โครงการ ส่วนครึ่งปีหลังจะเปิดไตรมาสละ 1 โครงการ โดยตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ไว้ที่ 6,400 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 35%
ทุกโครงการในเป้าหมายที่จะเปิดในปี 2560 มีที่ดินครบ รวมไปถึงปี 2561 ก็เตรียมซื้อที่ดินไว้ส่วนหนึ่งแล้ว โดยงบซื้อที่ดินปีนี้ 1,650 ล้านบาท ยอดรอรับรู้รายได้รวม 1,500 ล้านบาท แนวราบ 650 ล้านบาท คอนโด 850 ล้านบาท มีไม่มากเนื่องจากนโยบายบริษัทสร้างเสร็จก่อนขาย
กลยุทธ์ธุรกิจปีนี้นอกจากเปิดการขายโครงการใหม่ๆ แล้ว ยังต้องเร่งลดยอดปฏิเสธสินเชื่อให้น้อยลงในปี 2559 บริษัททำยอดขายได้สูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงถึงกว่า 40% ดังนั้น ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อได้โดยการทำงานละเอียดขึ้น มีการประสานงานกับธนาคารอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ก็จะสามารถมียอดขายเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือบริษัทมีบริการหลังการขายที่ดี เมื่อลูกค้าที่เข้าอยู่ให้ความร่วมมือดี การยื่นกู้กับธนาคารก็จะได้รับอนุมัติ
“ตลาดอสังหาฯปีนี้แข่งกันหนัก คาดว่าตลาดในภาพรวมนั้นไม่โตจากปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจดีเป็นหย่อมๆ เฉพาะกลุ่มก่อสร้าง ที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ความต้องการที่อยู่อาศัยยังดี เพราะขณะนี้ยอดเข้าชมโครงการและยอดโทรกลับมาเป็นปกติ แต่ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการอสังหาฯคือคนซื้อกู้ไม่ผ่าน”
นอกจากนี้ได้เปิดแผนกต่างประเทศ โดยมีแผนขยายช่องทางการตลาดไปยังกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลุ่มประเทศเออีซี เพราะมองเห็นโอกาส ที่ราคาอสังหาฯในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนค่อนข้างถูก
นายวิวัฒน์กล่าวว่า บริษัทพยายามสร้างความแตกต่าง 2 ด้าน ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาโครงการ คือ ด้านการออกแบบโครงการ ก็เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง อาทิ การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการแยกระบบท่อน้ำเพื่อบำบักดกลับมาใช้ในสวนส่วนกลาง อีกด้านเป็นนวัตกรรมการดูแลและบริหารชุมชน เน้นสร้างความสุขที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัย
“อารียาต้องการเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจ 15 ปี เรารู้ว่าลูกบ้านต้องการบริการที่ดี หลังจากที่ลูกบ้านเข้าอยู่อาศัย 1 ปี เราดูแลตามกฎหมายอย่างจริงจัง จนลูกค้าเกิดความพึงพอใจ แนะนำเพื่อนให้มาซื้อสูงถึงประมาณ 22% เกิดจากการที่บริษัทเตรียมความพร้อมมานาน 4-5 ปี ในการอบรมพนักงาน มีคอลเซ็นเตอร์ มีผู้จัดการหมู่บ้าน และเซลส์เซ็นเตอร์”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560