ผวาโอนเงินพร้อมเพย์ ผูกบัญชีแต่ไม่ใช้-ยอมแพงกว่า 24ล้านบัญชีทำรายการ 3 หมื่น/วัน
คนไทยแห่ผูก ‘พร้อมเพย์” แตะ 24 ล้านบัญชี แต่ยังไม่กล้าใช้งาน ใช้บริการแค่วันละ 2-3 หมื่นรายการเท่านั้น ยอมจ่ายค่าธรรมเนียม 25 บาทโอนเงินระบบเก่าวันละกว่า 1 ล้านบัญชี แบงก์แจงลูกค้าขาดความเข้าใจและยังกังวลเรื่องความปลอดภัย
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) รายงานว่า หลังจากธนาคารทั้งระบบเปิดให้บริการโอนเงิน-รับเงินพร้อมเพย์(PromptPay) เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ มีผู้ผูกบัญชีแล้ว 24 ล้านบัญชี แบ่งเป็นการผูกบัญชีผ่านบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 80% หรือประมาณ 19 ล้านบัญชี และอีก 20%ผูกบัญชีด้วยเลขหมายโทรศัพท์หรือประมาณ 4-5 ล้านบัญชี
จำนวนของผู้ที่ผูกบัญชีผ่านบัตรประชาชนนั้น เป็นของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ราว 10 ล้านบัญชี และที่เหลือจะเป็นของธนาคารพาณิชย์ประมาณ 9 ล้านบัญชี
นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่สายกลยุทธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนผูกบัญชีพร้อมเพย์แล้วจำนวน 2.5 ล้านราย โดยลงทะเบียนผ่านบัตรประจำตัวประชาชนและเลขหมายโทรศัพท์ในอัตราเท่ากัน 50% ธนาคารตั้งเป้าภายในสิ้นปีจะมีผู้มาลงทะเบียนผ่านพร้อมเพย์จำนวน 4-5 ล้านบัญชี
ในส่วนของปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากพร้อมเพย์ทั้งระบบปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 หมื่นรายการต่อวัน โดยธนาคารไทยพาณิชย์มีธุรกรรมอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 รายการต่อวัน ซึ่งถือว่าอัตราการทำธุรกรรมยังต่ำมากเมื่อเทียบกับธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร(ORFT) ทั้งระบบที่มีธุรกรรมเฉลี่ย 1 ล้านรายการต่อวัน
หากพิจารณาในธุรกรรมจะพบว่าเป็นการโอนเงินในวงเงินที่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อรายการ ซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 25 บาทต่อรายการ แต่หากประชาชนหันมาโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะไม่เสียค่าธรรมเนียม สะท้อนว่าประชาชนยังไม่เข้าใจดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจโดยนำเรื่องของราคาที่ถูกเป็นเรื่องแรกที่ภาครัฐและเอกชนปรับลงมาก่อน รวมถึงความปลอดภัย เพื่อจูงใจให้คนให้มาใช้บริการ
“แม้ลูกค้าจะโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมกันเองภายในโดยมีการศึกษาต้นทุนที่ธนาคารต้องเสียทั้งระบบอยู่ที่ 2-4 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าเมื่อประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น จะหันมาทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์มากขึ้น”
นายอารักษ์ คาดว่าภายใน 1-2 ปี ปริมาณธุรรกรรมผ่านพร้อมเพย์น่าจะเพิ่มขึ้น2-3 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินสดในการหมุนเวียนของระบบที่อยู่ 7 ล้านล้านบาทต่อปี ให้ปรับลดลงได้ รวมถึงต้นทุนดำเนินงานผ่านสาขา 40-50 บาทต่อรายการปรับลดลงด้วย
สำหรับการติดตั้งเครื่องรับบัตร (EDC) คาดว่าทางการจะประกาศผู้ชนะในการติดตั้งภายในสัปดาห์นี้ โดยงบประมาณการวางเครื่องอยู่ราว 2,000-3,000 ล้านบาท เฉลี่ยค่าเครื่องอยู่ที่ 6,000-1 หมื่นบาทต่อเครื่อง อายุการใช้งาน 5-6 ปี
ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (Merchant Discount Rate: MDR) เรียกเก็บ 0.5-0.6% จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 1.5-2%ซึ่งอยู่ในระดับเหมาะสม เนื่องจากมีค่าต้นทุนกระดาษประมาณ 0.20-0.30 บาทต่อรายการ รวมถึงค่าสวิตชิ่ง และค่าติดตั้งเครื่องในช่วงแรกด้วย
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มผู้เข้ามาผูกบัญชีพร้อมเพย์ เริ่มมีมากขึ้น ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีอยุธยามีลูกค้าเข้ามาผูกบัญชีแล้วประมาณ 9 แสนราย จากเป้าหมาย 2 ล้านราย
นางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีรหัสพร้อมเพย์อยู่เกือบ 3 ล้านราย ซึ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและเลขหมายโทรศัพท์ในสัดส่วนที่เท่ากัน
นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้ามาผูกบัญชีพร้อมเพย์ประมาณ 4 แสนราย หรือประมาณ 10% ของฐานลูกค้า โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นการผูกบัญชีผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคาร เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจจึงต้องการคำปรึกษา อย่างไรก็ดี คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีลูกค้าผูกบัญชีพร้อมเพย์เกือบ 1 ล้านบัญชี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560