ศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง (Hong Kong Convention and Exhibition Center : HKCEC) กลุ่มอาคารรูปทรงคล้ายนกกระพือปีก ที่หันหน้าสู่อ่าววิกตอเรีย เป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนในวงการของขวัญ ของที่ระลึก และของชำร่วย รวมทั้งผู้ค้าและสื่อจากทั่วทุกมุมโลกอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย. ที่ผ่านมา เพราะที่นั่นเป็นสถานที่จัดงาน Hong Kong Gifts & Premium Fair งานใหญ่ระดับโลกที่ไม่เคยหยุดสร้างความแปลกใหม่ ...
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตการณ์ว่า เพราะเหตุใดงานนี้ผู้ประกอบการจึงจับจ้องเป็นเวทีแรกในการเปิดตัวสินค้าใหม่ประจำปี เป็นสถานที่ประกาศเทรนด์ หรือแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น และนอกเหนือไปจากการเป็นจุดพบปะเจรจาจับคู่พันธมิตรทางการค้าแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ต่อยอดความฝันที่ว่า
"ขอให้มีสินค้าดี ไอเดียดี เป็นคู่ค้าที่ดี แม้จะเป็นรายเล็กรายย่อย ก็สามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ทั่วโลก"
ไม่เคยหยุดนิ่งและพัฒนาอยู่เสมอ
Hong Kong Gifts & Premium Fair จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33 แล้ว ยิ่งจัด จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมแสดงสินค้าก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สมกับที่เป็นงาน
"ใหญ่ที่สุดในโลก" เมื่อพูดถึงสินค้าประเภทนี้
ปีนี้ (2018) จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมแสดงสินค้าในงานทุบสถิติปีที่ผ่าน ๆ มาอีกครั้ง ด้วยจำนวน 4,360 บริษัท จาก 35 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง 100 บริษัทจากประเทศไทย ถามว่า
"อะไร คือ กุญแจสู่ความสำเร็จในฐานะผู้จัดงาน และอะไร คือ เหตุผลที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจำเป็นต้องมางานนี้" 2 ผู้บริหารของ 2 องค์กรสำคัญ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน คือ
ไบรอน ลี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายงานแสดงสินค้าขององค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council) หรือ HKTDC และเบนสัน เปา ประธานสมาคมผู้ส่งออกฮ่องกง (Hong Kong Exporters’ Association) หรือ HKEA มาร่วมกันไขข้อข้องใจ สรุปเป็นไฮไลต์ได้ดังนี้
[caption id="attachment_279209" align="aligncenter" width="366"]
(ซ้าย) ไบรอน ลี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายงานแสดงสินค้าขององค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council) หรือ HKTDC
(ขวา) เบนสัน เปา ประธานสมาคมผู้ส่งออกฮ่องกง (Hong Kong Exporters’ Association) หรือ HKEA[/caption]
●
ที่เดียวครบทุกความต้องการ งานนี้เป็น One-Stop Sourcing Platform ตอบโจทย์ทุกอย่างสำหรับผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ผลิต บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 62,049 ตารางเมตร มีการแบ่งโซนแสดงสินค้าแยกเป็น 21 ประเภท เดินได้เพลินทั้ง 4 วัน อาทิ โซนของขวัญ-ของที่ระลึกเพื่อการโฆษณา, ของที่ระลึกสำหรับองค์กร, ของขวัญหมวดแฟชั่น หมวดความงามและสุขภาพ, ของขวัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เครื่องเขียนและงานกระดาษ, หมวดของเล่นและสินค้าเด็ก, นาฬิกา, กรอบรูป, ของตกแต่ง, หมวดสินค้าไฮเทค, สินค้าลิขสิทธิ์ ฯลฯ มีการศึกษาวิจัยและจัดโซนใหม่ ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัยอยู่เสมอ เช่น หมวดสินค้าจากผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว และยังมีต่อเนื่องในปีนี้ กับหมวดใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในคราวนี้ คือ สินค้าแคมปิ้งและสันทนาการกลางแจ้ง (Camping & Outdoor Goods Zone) ที่มีผู้นำสินค้าเข้าร่วมแสดงถึง 93 บริษัท
●
เวทีส่งเทรนด์โลก เดินดูสินค้า เจรจากับผู้ผลิตจับคู่หาพันธมิตรทางธุรกิจ กิจกรรมหลัก ๆ เหล่านี้ ได้รับการประสานอย่างมืออาชีพจาก HKTDC มีการจัดคณะสำหรับกลุ่มผู้ซื้อ (Buyers) จากประเทศต่าง ๆ ให้ได้พบเจอพูดคุยธุรกิจจำนวนมากกว่า 170 คณะ แถมยังมีเคาน์เตอร์บริการด้านเทคนิค (Technical Service) ไว้อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำปรึกษา แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ การจัดเวทีสัมมนาให้ความรู้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์หรือแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูในวงการ โดยในปีนี้ เวทีสัมมนาที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ คือ 5 แนวโน้มระดับโลกเกี่ยวกับผู้บริโภคในยุคดิจิตอลที่จะได้เห็นกันในปีนี้ (Top 5 Global Digital Consumer Trends in 2018) นำเสนอโดย มิเชล อีแวนส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผู้บริโภคยุคดิจิตอล บริษัท วิจัยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิทธิพลของสีสันในงานออกแบบ (The Poweful Impact of Colors on Design) โดย มาเรียน หว่อง กูรูเรื่องสีสันและการตลาดจาก บริษัท แพนโทน เอแพคฯ และโอกาสทองของสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ในสหรัฐอเมริกา (Opportunities in the U.S. Market) ที่รายละเอียดเราจะนำมาเสนอในฉบับต่อไป และผู้สนใจนำสินค้าบุกตลาดสหรัฐฯ ไม่ควรพลาด
●
จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ฮ่องกงเป็นแหล่งบ่มเพาะนักออกแบบ โดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ในแต่ละปี HKEA มีการจัดประกวด Smart Design เพื่อเป็นเวทีให้นักออกแบบของฮ่องกง ได้ประกาศศักยภาพและเปล่งประกายในเวทีระดับโลก เมื่อต้นปีนี้ 3 ผลงาน Smart Design ของฮ่องกง ก็เพิ่งไปคว้ารางวัลงานออกแบบมาจากประเทศเยอรมนี และถูกนำมาจัดแสดงในโซนที่เรียกว่า Smart Design Village ของปีนี้ด้วย ผลงานหลายชิ้นเข้าไปอยู่ในร้าน Design Gallery ของ HKTDC ให้ผู้คนทั่วไปที่รักงานออกแบบ ได้ซื้อหาเป็นเจ้าของและชื่นชมผลงาน อีกทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังผู้ค้าจากทั่วโลก
●
ต่อยอดธุรกิจสำหรับสตาร์ตอัพและ SMEs นี่คือ ปัจจัยที่โดดเด่นและโดนใจผู้เข้าชมงาน Hong Kong Gifts & Premium Fair เสมอมา ภายในงานไม่เพียงมีโซนแสดงสินค้าของบริษัทสตาร์ตอัพ ที่เรียกว่า Startup Zone เท่านั้น แต่ยังเปิดเวที Startup Launch ให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ไฟแรงได้นำเสนอสินค้าและไอเดีย ทั้งยังมี Small-Order Zone จัดแสดงสินค้าตัวอย่างจาก 259 บริษัท ซึ่งรวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย เปิดรับออร์เดอร์เล็ก ๆ ทางออนไลน์ให้ผู้สนใจได้ทดลองซื้อเป็นตัวอย่าง นำทางไปสู่การต่อยอดธุรกิจในอนาคต
ฉบับหน้าพบกับแนวคิดสดใหม่ของผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศ และการรวมพลังของไอเดียและอัตลักษณ์ไทยที่ Thai Pavillion
……………….
รายงาน โดย รัตนศิริ สุขัคคานนท์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,362 วันที่ 3-5 พ.ค. 2561 หน้า 10
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
แบรนด์ดังโหน‘ออเจ้า’ จ่อโกอินเตอร์ตีตลาดจีนฮ่องกง-ทวิตเตอร์ขึ้นที่1โลก
●
"ลีกาชิง" จากวันนั้นถึงวันนี้ 51 ปี ฮกหลงแห่งฮ่องกงเพิ่งวางมือ