อุตสาหกรรมอาหารไทยไม่ร่วมสมัย แนะรัฐส่งเสริมออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

05 ก.พ. 2559 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2559 | 09:23 น.
"ขาบสไตล์"จี้รัฐส่งเสริมการออกแบบสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร ชี้ที่ผ่านมายังไม่มีความร่วมสมัยและได้มาตรฐานมากพอ เผยหากพัฒนาตรงนี้ได้จะสามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นนับพันล้าน แนะรัฐเร่งผลักดันให้มีสถาบันการสอนออกแบบสินค้าเกษตรกรรมและอาหารอย่างจริงจัง

นายสุทธิพงษ์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการสร้างภาพลักษณ์และแบรนดิ้งธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดทักษะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารอยู่มาก หากประเทศไทยสามารถพัฒนางานด้านนี้ให้เป็นสินค้าหรืออาหารร่วมสมัยได้ จะทำให้มีมูลค่าเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มอีกหลักพันล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่มประเทศอาเซียน

"ปัจจุบันไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรกรรมและอาหาร พร้อมทั้งถูกจับตามองจากประเทศรอบอาเซียนและทั่วโลก ขณะที่งาน Thaifex (อุตสาหกรรมอาหาร)ที่จัดขึ้นในปีก่อน นับว่าเป็นงานที่ติด 1 ใน 5 งานจากทั่วโลกที่ได้รับความสนใจจากทุกประเทศ แต่น่าเสียดายจากการที่ไปสังเกตในงานนี้ และจากที่อื่นๆ รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ยังไม่มีความร่วมสมัยและได้มาตรฐานมากพอ หรือมีไม่ถึง 10% ของสินค้าที่เรียกตัวเองว่า เป็นสินค้าสวยงามมีมาตรฐาน หากประเทศไทยสามารถพัฒนาตรงนี้ได้ จะช่วยผลัดกันให้อุตสาหกรรมธุรกิจอาหารสามารถเพิ่มราคาวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้นกว่า 100% และมีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศจำนวนมาก"

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อยากให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมเรื่องการออกแบบสินค้าไทยให้มากขึ้น ผลักดันการออกแบบสินค้าให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนไทย ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมและอาหาร รวมถึงดีไซเนอร์หรือผู้ออกแบบสินค้ากลุ่มนี้ ควรมีระบบความคิดการออกแบบสินค้าให้มีความเป็นธรรมชาติ มีชีวิต ดูเรียบง่าย แต่มีความงามและคุณค่าในแบรนด์ ซึ่งหากมีสิ่งดังกล่าวจะส่งผลให้แบรนด์สินค้าของไทยมีความยั่งยืนและเป็นอมตะ นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดวันนี้ คือ สถาบันการสอนออกแบบสินค้าเกษตรกรรมและอาหารอย่างจริงจัง รัฐบาลควรเร่งผลักดัน เพราะเมื่อย้อนไปในอดีตรากฐานของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น คือ มีจุดแข็งในเรื่องของการปรุงรสชาติอาหารให้อร่อย แต่ในด้านการออกแบบสินค้าและการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ยังมีจำนวนน้อย

ทั้งนี้ธุรกิจของบริษัท ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นดีไซเนอร์ ปรับเปลี่ยนโฉมร้านค้าเก่าแก่รูปแบบดั้งเดิมให้มีดีไซน์โดดเด่น คลาสสิก และร่วมสมัย รับออกแบบเมนูรูปเล่มทั้ง 2 รายการ ได้แก่ เมนูอาหารและเมนูเครื่องดื่ม โดยพัฒนาปรับเปลี่ยนหน้าตาอาหารรูปแบบดั้งเดิมให้มีดีไซน์ที่โดดเด่น อีกทั้งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแบรนด์ ดูแลเรื่องการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารการตลาด ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์สินค้าและองค์กร รวมถึงบรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้า

นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนวคิดในการเปิดร้านอาหารใหม่ สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้ร้านอาหารมีดีไซน์โดดเด่น ทันสมัย เน้นความเป็นสากลและอยู่ในกระแส ร้านโชวห่วยต้นแบบขึ้นมาใหม่ที่เน้นเรื่องดีไซน์และนำสไตล์ศิลปะท้องถิ่นมาปรับใช้ เปิดคอร์สอบรมให้กับบุคคลทั่วไปและ ผู้ที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร โดยให้มุมมองและให้แนวคิดความเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องของการออกแบบและสร้างภาพลักษณ์ให้อาหารมีความโดดเด่น ขณะที่ในด้านของลูกค้าขาบสไตล์ปัจจุบันเกือบ 90% เป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่มลูกค้าแบรนด์ขนาดใหญ่ พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้ในสิ้นปีนี้กว่า 3-5 ล้านบาท

"ด้านภาพรวมตลาดธุรกิจการสร้างภาพลักษณ์และแบรนดิ้งธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยปัจจุบันมีเกิดขึ้นมาจำนวนมาก ส่งผลให้สินค้าประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีการพัฒนามากขึ้น อีกทั้งยังมีช่องว่างและโอกาสการเติบโตสำหรับธุรกิจนี้อยู่มาก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559