จากปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งไล่ดำเนินการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกกลุ่มคนเล็กๆ รุ่นใหม่ ในนามของ Noburo สตาร์ตอัพกลุ่ม Fin Tech แพลตฟอร์มปล่อยกู้สำหรับธุรกิจ ยกขึ้นมาเป็นโจทย์ โดยการนำทีมของ “น้องดิว-ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล” ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง Noburo และเพื่อนสนิทอีก 2 คน คือ ท้อป-อานุภาพ วิรัตนภานุ และตาล-ศวิตา น้ามังคละกุล ที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาใช้และช่วยแก้ปัญหา
ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ มีความสนใจช่วยเหลืองานด้านสังคมอยู่แล้ว เธอเคยทำโครงการด้านสังคม ชื่อ “light me up project” ด้วยความตั้งใจที่จะลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคมและความยากจน และวันหนึ่งที่เธอได้กลับมาช่วยงานของครอบครัวในบริษัท ไอทีทีพี สถาบันการเงินสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณพ่อของเธอก่อตั้งขึ้น ทำให้เธอเกิดมุมมองที่ว่า คนไทยเป็นหนี้สินครัวเรือนเยอะ ปล่อยเงินกู้
คือการไปเพิ่มหนี้ให้คนไทยอีกหรือเปล่า มันถูกต้องไหม แต่ในที่สุด เธอก็เห็นทางออก จึงจัดตั้ง บริษัท โนบูโระฯ ขึ้น ด้วยการแยกออก (spinoff) มาจากไอทีทีพี สร้างเป็นองค์กรด้วยคอนเซ็ปต์ ของสวัสดิการทางด้านการเงิน (financial wellness services for blue-collar workers) เพราะมันไม่ใช่แค่เงินกู้ แต่จะมีการดูแลผู้กู้ ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริหารจัดการการเงินได้ ไม่เป็นหนี้นอกระบบ
“ดิว” จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น สาขาวิศวกรรม
การจัดการเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรม มหาวิทยาลัยโตเกียว เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาที่ Deloitte Consulting และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้านที่ปรึกษาธุรกิจการลงทุนและวางแผนกลยุทธ์ระหว่างไทย ญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาค เธอเคยฝึกงานที่ Tradecraft โดยทำโปรเจ็กต์ให้กับสตาร์ตอัพหลายรายใน San Francisco และได้รับเลือกให้เป็น StartingBloc Fellowship ที่ Washington DC โดยรวบรวมผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคม
โนบูโระ ไม่ใช่บริษัทแรกที่ผู้หญิงคนนี้เคยก่อตั้ง เธอเคยทำธุรกิจด้านพลังงานมาแล้วถึง 2-3 บริษัท มีบริษัทที่เคยล้มเหลวมาแล้ว แต่การล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่ากลัว สำหรับผู้หญิงคนนี้ เธอเรียนรู้จากความผิดพลาด และมีมุมมองที่ว่า ความผิดพลาด คือ องค์ประกอบที่สำคัญ (key elements) ของการทำธุรกิจและการเรียนรู้
สิ่งที่ “ดิว” ได้เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ การทำธุรกิจต้องมีแหล่งเงินทุน ต้องรู้จักบริหารและมีทีมงานที่มีศักยภาพ และสิ่งสำคัญคือ อะไรที่เป็นงานที่เป็นคีย์หลักขององค์กรไม่ควร outsource ให้คนข้างนอกทำ เพราะมันจะควบคุมลำบาก เธอได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้กับธุรกิจใหม่ “Noburo” ที่เธอก่อตั้งขึ้น โดยส่วนหนึ่งคือการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน กับบริษัท ไอทีทีพีฯ เธอได้เพื่อนรัก 2 คนที่มีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันเข้ามาช่วยพัฒนาระบบ
กลุ่มเป้าหมายแรกของโนบูโระคือ มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน แต่มีปัญหาหนี้สิน โดยโนบูโระจะร่วมมือกับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือพนักงานปลดหนี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น โดยฝ่ายเอชอาร์ของบริษัทต้องให้ข้อมูลกับโนบูโระ เพื่อคัดเลือกพนักงานมาเข้าระบบ แล้วคิดรูปแบบแอพพลิเคชันที่เหมาะสม รวมทั้งโมเดลการปลดหนี้ให้พนักงานร่วมกัน โดย 6 เดือนแรก คือการทำความรู้จักคุ้นเคยกับพนักงาน และในระยะ 1 ปี จะเริ่มดำเนินการปลดหนี้
พนักงานเหล่านั้นต้องให้ข้อมูลจริง และมีความตั้งใจจริงในการปลดหนี้ของตัวเอง “ดิว” บอกว่า ไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562 โมเดลแอพพลิเคชันแรกต้องออกมา พนักงานเข้าระบบ 3 โมดูล(module) คือ 1. ปล่อยสินเชื่อขนาดเล็ก ไม่เกิน 0.5 เท่าของเงินเดือน ให้พนักงานไปทดแทนที่เงินกู้นอกระบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี 2. ข้อมูลของพนักงาน ที่จะได้จากองค์กร และ 3. การให้ความรู้ทางการเงินกับพนักงาน ซึ่งขณะนี้มีองค์กรที่ให้ความสนนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 20 ราย
“ถ้าโมเดลนี้สำเร็จ เราก็ rollout ให้กับเจ้าอื่นๆ เป็นการให้สวัสดิการทางด้านการเงินกับพนักงาน เพราะมันไม่ใช่แค่เงินกู้ เราจะดูแลเขา และเมกชัวร์ว่าคุณภาพชีวิตเขาจะดีขึ้น”
เมื่อทุกอย่างเดินหน้า พนักงานปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด อนาคตก็จะมีการขยายวงเงินเพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มเป้าหมายต่อไปของโนบูโระ คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าระบบการเงินของทางภาครัฐ เช่น พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยากต่อการสร้างโมเดล
“ดิว” บอกว่า การทำงานตรงนี้มันท้าทายมาก เพราะมันเป็นการเปลี่ยนความคิด (mindset) เปลี่ยนพฤติกรรมของคน มันเกี่ยวกับคนเยอะมาก แต่มันก็ดีมากถ้าเราทำสำเร็จ และเธอก็มีต้นแบบในการคิดการบริหารที่ดี คือ คุณพ่อและคุณแม่ ที่เคยทำงานด้านการเงิน และการบริหารคนมาแล้ว และด้วยความที่เป็นคนชัดเจน ทำทุกอย่างเคลียร์ การทำงานของเธอจึงค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ
“มันมีอะไรที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เรื่องคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จุดอ่อนของตัวเองยังมีอีกหลายจุด แต่ดิวว่า เราต้องเรียนรู้และปรับปรุงไปเรื่อยๆ ต่อให้อายุ 60 แล้ว มันก็ยังมีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ และทำให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลา”
นั่นคือมุมมองการทำงาน และการเรียนรู้ของ “ดิว-ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล”
หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561