ขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์!! ไมเนอร์ระดม 1.5 หมื่นล้าน ซื้อหุ้นเชนดังโรงแรมสเปน

02 ก.ย. 2561 | 06:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2561 | 13:23 น.
020961-1312

'ไมเนอร์' ฉวยจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้น ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 100 ปี มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ให้ผลตอบแทนสูง ระดมทุนซื้อหุ้น "เอ็นเอช โฮเทล" เชนดังโรงแรมสเปนกว่า 5 หมื่นล้านบาท แทนการเพิ่มทุน

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าและรับจ้างผลิตสินค้า มีสินทรัพย์รวม 145,836 ล้านบาท สร้างความฮือฮาให้กับวงการตลาดทุนอีกครั้ง ด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียว เมื่อเลิกบริษัท หรือ เมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือที่ในวงการเรียกกันว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" หรือ Perpetual Bond


logo-02

ออกหุ้นกู้แทนเพิ่มทุน
การออกหุ้นกู้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากไมเนอร์เข้าไปซื้อหุ้น เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป เชนโรงแรมของสเปนอีก 25.2% และมีแผนซื้อเพิ่ม เพื่อดันสัดส่วนหุ้นเพิ่มเป็น 51-55% ซึ่งประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.3-1.4 พันล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยราว 4.91-5.29 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า ไมเนอร์ตั้งเป้าจะเข้าไปถือหุ้น 51-55% ในเอ็นเอช โฮเทล จากเดิม 44.5% ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. นี้ แต่ทางไมเนอร์มองว่า การเพิ่มทุนไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจ จึงใช้การออกหุ้นกู้แทน

สอดคล้องกับ นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมเนอร์ โฮเทลส์ ที่เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนหน้านี้ ว่า บริษัทยังไม่มีแผนการเพิ่มทุนในปัจจุบัน ส่วนแหล่งเงินที่จะนำไปซื้อหุ้นเพิ่มใน เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป จะเป็นการออกตราสารหนี้ โดยไมเนอร์คาดว่าจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินส่วนที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2562 ให้อยู่ที่ 1.3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมของบริษัท


GP-3397_180902_0008

ยอดหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 5.8 หมื่นล้าน
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบว่า หุ้นกู้ของไมเนอร์เป็นหุ้นกู้ประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ Perpetual Bond โดยปัจจุบันจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย มูลค่ารวม 58,000 ล้านบาท

"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" จะเป็นหุ้นกู้แบบไฮบริดส์ กึ่งหนี้กึ่งทุน คือ จะเป็นหนี้ก็ไม่ใช่ ทุนก็ไม่เชิง คนที่ออกหุ้นกู้จะนับเป็นทุน เพราะไม่ได้สัญญาว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในเวลาไหน ทำให้แม้จะออกจำนวนมาก ก็ไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลง เพราะไม่ใช่ทุน ขณะที่ ผู้ซื้อก็จะได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป โดยปกติอันดับเครดิตหุ้นกู้จะต่ำกว่าอันดับองค์กรประมาณ 2 นอต ขณะเดียวกัน ยังเหมือนกับการซื้อกิจการ เพราะสามารถถือไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่กิจการยังคงดำเนินการอยู่


CiHZjUdJ5HPNXJ92GP6qMsjkTzReUzkkgO

ก.ล.ต. เปิดรายชื่อบิ๊กทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการออกหุ้นกู้ประเภทนี้ไม่กี่ราย โดยปี 2542 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มูลค่า 19,956 ล้านบาท , ปี 2550 ธนาคารธนชาต มูลค่า 14,260 ล้านบาท , ปี 2549 ธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่า 13,866 ล้านบาท , ปี 2549 ธนาคารทหารไทย (TMB) มูลค่า 16,000 ล้านบาท , ปี 2555 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มูลค่า 10,000 ล้านบาท

ปี 2557 บมจ.อินโดรามาเวนเจอร์ส (IVL) มูลค่า 30,000 ล้านบาท 7% , ปี 2557 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มูลค่า 65,280 ล้านบาท , ปี 2558 บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 8.5% ใน 5 ปีแรก โดยจ่ายทุก ๆ 3 เดือน , ปี 2559 บริษัท บียอนด์ กรีน จำกัด มูลค่า 156 ล้านบาท , ปี 2559 บมจ.ซีพีออลล์ 10,000 ล้านบาท ให้อัตราดอกเบี้ย 5% ใน 5 ปีแรก

ล่าสุด คือ หุ้นกู้ของไมเนอร์ ที่มีกำหนดที่จะขายระหว่างวันที่ 24-27 ก.ย. 2561 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มีเงื่อนไขการจองซื้อขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน และ 1 แสนบาท สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป


ออกหุ้นกู้หนีดอกเบี้ยขาขึ้น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ระบุว่า ไมเนอร์ฉวยจังหวะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุน ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวโดยมีข้อกำหนดจะปรับเปลี่ยนอัตราผลตอบแทนหลัง 5 ปี ซึ่งระหว่างทาง ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้เงินสามารถทยอยขายในตลาดรองได้ หรือ หากผู้ลงทุนต้องการถือหุ้นต่อไปเรื่อย ๆ ก็ยังคงได้รับผลตอบแทนต่อเนื่อง ส่วนโอกาสที่อัตราผลตอบแทนจะปรับลดจากเดิมมีน้อย อีกทั้งไมเนอร์ก็เป็นหุ้นที่อันดับความน่าเชื่อถือระดับ +BBB และยังเป็นหุ้นธุรกิจอาหารและท่องเที่ยว ซึ่งเกาะกระแสคนไทยที่มีแนวโน้มบริโภคเพิ่มขึ้น

ช่วงที่เหลือเชื่อว่ายังมีบริษัทขนาดใหญ่ทยอยออกตราสารหนี้ ส่วนรูปแบบที่ออกขึ้นอยู่กับโครงการลงทุนและกลุ่มเป้าหมาย โดยบริษัทขนาดใหญ่บางส่วนเน้นเงินลงทุนไซส์ใหญ่และเป็นการลงทุนระยะยาว ทำให้ติดเพดานวงเงินกู้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ก.ค. 2561 ภาคเอกชนอกตราสารหนี้แล้ว 7 แสนล้านบาท ถือว่าเติบโตดีและยังไม่ใหญ่เกินไป ขณะที่ผ่านมา ปริมาณการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนต่อปีมีสัญญาเร่งตัวตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากดอกเบี้ยยังอยู่ในอัตราต่ำ จึงเอื้อต่อการระดมทุนดังกล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,397 วันที่ 2-5 ก.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แห่ออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุน
บี.กริมฯขายหุ้นกู้ 6.7พันล้านลดภาระต้นทุนการเงินสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจ

เพิ่มเพื่อน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว