กระบวนการเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ให้เตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรองรับการทำไพรมารีโหวต
ในการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ ทาง กกต.ยึดจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามการประกาศของสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งกกต.ได้คำนวณจำนวนสมาชิกส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นรายจังหวัด ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยคำนวณสัดส่วนส.ส.จำนวน 1 คน เท่ากับประชากร 186,110 คน ตามจำนวนส.ส.ที่ลดลงจาก 375 คน เหลือ 350 คน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
นอกจากนั้นกฎหมายยังกำหนดให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิม 800 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง เพิ่มมาเป็น 1,000 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศเดิมมีประมาณ 96,000 หน่วย ทาง กกต.ตั้งเป้าลดลงอย่างน้อย 3% เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ แต่ต้องไม่กระทบความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชน
ในเบื้องต้นหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ พบว่า มี 41 จังหวัดที่จะมีจำนวนส.ส. เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 1 ที่นั่ง ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี มุกดาหาร ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี
นายณัฏฐ์ ชี้แจงถึงขั้นตอนในการปฏิบัติหลังจากนี้ว่า พื้นที่ที่จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะพึงมีเกิน 1 คน กกต.จังหวัดจะตรวจสอบจำนวนราษฎรให้เป็นไปตามประกาศสำนักทะเบียนกลางเพื่อปรับพื้นที่เขตเลือกตั้งให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้ง หรือ ผอ.กต.ประจำจังหวัดจะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบและติดประกาศทั้ง 3 รูปแบบเพื่อฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 วัน ก่อนจะประมวลความเห็นส่งมายัง กกต.เพื่อพิจารณารูปแบบที่ดีที่สุด ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ต้องให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่ากลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้เลย
ทั้งนี้ จากร่างแผนปฏิบัติการของ กกต. กำหนดตารางการทำงานไว้คร่าวๆ โดยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 กันยายน 2561 ระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กันยายน 2561 และสามารถประกาศจำนวนส.ส.และจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดในวันที่ 1 ตุลาคม 2561
วันที่ 15 ตุลาคม จะเป็นวันสุดท้ายที่ ผอ.กต.จังหวัด จะเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเป็นรายจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ ภายในเวลา 14 วัน จากนั้นวันที่ 25 ตุลาคม จะเป็นวันสุดท้ายของการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตให้ประชาชนและพรรคการเมืองแสดงความเห็น โดยผอ.กต.จังหวัดจะส่งรูปแบบมาให้ กกต.พิจารณาในวันที่ 28 ตุลาคม
ตามร่างแผนปฏิบัติการของ กกต. ยังกำหนดให้ประกาศจำนวนราษฎรและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดและท้องที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งในวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ให้สมาชิกพรรคการเมืองสมัครเข้าสู่กระบวน การทำไพรมารีโหวตได้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่เตรียมแผนงานไว้
ต้องลุ้นกันว่าคนไทยจะได้หย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนฯ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ การเลือกตั้งอาจจะขยับไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งทุกอย่างก็จะถูกขยับออกไปอีก 60 วัน
|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3398 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย 2561