นายมหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2567 สคฝ. ได้จัดทำรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งสิ้น 99.25 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโต 4.75% หรือเพิ่ม 4.50 ล้านราย และจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 1.4% หรือ 2.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่า การเติบโตของเงินฝากในกลุ่มผู้ที่ฝากเงินน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นที่สุดถึง 4.84% โดยเป็นผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้เงินฝากเดือนก.ย.67 พุ่งขึ้นถึง 6.83% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ในช่วงเดียวกัน ที่ 2.50%
ขณะที่ผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ 2.70% ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2566
อย่างไรก็ตาม พบว่าในปี 2566 ค่าเฉลี่ยเงินฝากคนไทย อยู่ที่ 1.98 แสนบาทต่อบัญชี เป็นจำนวนเงินลดลงจากปีก่อนที่ 2.03 แสนบาทต่อบัญชี หรือคิดเป็น -2.49% ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีเงิน 3,164 ต่อบัญชี ซึ่งลดลงจากตัวเลขปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 3,533 บาทต่อบัญชี คิดเป็นลดลง -10.44%
สำหรับปัจจุบันผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินอยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วน 98.2% ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก
ด้านแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568 นี้ คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1 – 3% หรือมีค่ากลางที่ 2% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ ขณะที่การบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ในปี 2567 อัตราผลตอบแทนการลงทุน อยู่ที่ 2.17% ส่วนปี 2568 สคฝ. ตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนการลงทุน ที่ 2.2%
นอกจากนี้ สคฝ. ได้ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการสำหรับผู้ฝากที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
โดยจากผลศึกษาและเก็บข้อมูลสถิติในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2566 ของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนวันในการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากสามารถทำได้เร็วขึ้นจาก 28 วันเหลือเพียง 14 วัน มีเหตุการณ์สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตรวม 13 สถาบันการเงิน ที่สถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ได้ภายใน 7 วันทำการ ทั้งนี้คำว่าผู้ฝากส่วนใหญ่นั้นจะต้องครอบคลุมผู้ฝากไม่ต่ำกว่า 75%