ญี่ปุ่นเป่านกหวีด! พร้อมรุกลงทุนธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ แย่งเค้กหมื่นล้านจากกลุ่มทุนไทย-ยุโรป ชี้ผลการศึกษาพบศักยภาพสูงใน 6 สาขา พาณิชย์เผยนิติบุคคลแห่จดทะเบียนแล้ว 200 ราย ค่ายใหญ่อสังหาฯ พาเหรดแข่งผุดโครงการเด้งรับตลาดสูงวัย
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินในปี 2563 ไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17% ของจำนวนประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15% ส่งผลให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในไทย เพิ่มอุณหภูมิการแข่งขันร้อนแรงมากขึ้นทุกขณะ
ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า ธนาคาร Mizuho ได้จัดทำรายงาน
"สถานะตลาดธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุหลายด้านที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ เข้ามาร่วมลงทุน หรือ มีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีโนว์ฮาวกับผู้ประกอบการของไทย"
โดยประเภทที่มีระดับความเป็นไปได้สูง ได้แก่ ธุรกิจผู้ดูแลไปให้บริการที่บ้าน โดยเฉพาะที่มุ่งเน้นกลุ่มชั้นกลางและสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้ดูแลระดับมืออาชีพ , ธุรกิจการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ , ธุรกิจ Day Care Center/Day Care Service สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคความจำเสื่อม หรือ ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลช่วงบุตรหลานออกไปทำงาน , สถานดูแลคนชรา , ธุรกิจให้คำปรึกษา และธุรกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ เช่น รถเข็นที่เหมาะสำหรับสรีระคนไทย รวมถึงสินค้าอาหารจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2513 และขณะนี้ ได้เริ่มเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ คือ มีผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากร
[caption id="attachment_319329" align="aligncenter" width="503"]
ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย[/caption]
นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในไทยกำลังมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติ คาดจะมีมูลค่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมกันหลายหมื่นล้านบาทต่อปีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจหรือบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านพัก คอนโดมิเนียม สถานดูแลคนชรา อาหาร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ในบ้าน ธุรกิจนำเที่ยว ฯลฯ
"ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจากยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มสแกนดิเนเวีย (สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก) มาร่วมลงทุนที่พักอาศัยสำหรับรองรับผู้สูงอายุจากบ้านเขา ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและใช้ชีวิตบั้นปลายในไทย และมีกลุ่มทุนจากฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่เริ่มเข้ามาลงทุนหรือร่วมทุนกับคนไทย ในธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เช่น บ้านพักอาศัยที่เก็บค่าใช้จ่าย 4 หมื่นบาทต่อเดือน โดยมีบริการที่ครอบคลุมส่วนอื่นด้วย เช่น อาหาร แพทย์-พยาบาล คอยดูแล สระว่ายน้ำ นำเที่ยว เป็นต้น ขณะที่ ญี่ปุ่นถือเป็นอีกกลุ่มทุนที่มีศักยภาพ เพราะมีความรู้และประสบการณ์น่าจับตามอง"
[caption id="attachment_319331" align="aligncenter" width="294"]
กุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์[/caption]
ด้าน นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 2560 มีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุราว 800 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 200 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,283 ล้านบาท และเป็นบุคคลธรรมดาราว 600 ราย โดยมีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานบริหารจัดการ จำนวน 75 ราย (นิติบุคคล 35 ราย และบุคคลธรรมดา 40 ราย) ซึ่งหากนำจำนวนธุรกิจมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังมีช่องว่างทางการตลาดสำหรับผู้ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจได้อีกมาก)
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า หลายธุรกิจได้รับอานิสงส์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้นในโครงการที่พักอาศัยและบริการครบวงจรสำหรับผู้สูงวัย เช่น กลุ่มแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น กลุ่มคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนลฯ กลุ่ม LPN กลุ่มเอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง และกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เป็นต้น ไม่นับรวมของอีกหลายโครงการ ทั้งใหญ่-เล็ก ที่กำลังขยายตัวทั่วประเทศ
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 01+15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
'เอพี' ผุดบ้านผู้สูงวัย
●
สพฉ. ดัน Smart Living เชื่อมระบบแพทย์ฉุกเฉินช่วยผู้สูงวัย