จริยธรรมในปัญญาประดิษฐ์

20 ก.ย. 2561 | 03:47 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2561 | 10:48 น.
โลกในทุกวันนี้กำลังเคลื่อนเข้าสู่ช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) อันเป็นผลจากอินเทอร์เน็ตที่ใช้สื่อสารกันแพร่หลาย และการเชื่อมโยงกันของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) กับจักรกลเรียนรู้ (Machine Learning: ML) ที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว คลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) กล่าวว่าการค้นพบและพัฒนาการสำคัญในด้านต่างๆ มีตั้งแต่การจัดลำดับพันธุกรรม นาโนเทคโนโลยี พลังงานทดแทนไปจนถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ การผสมผสานและปฏิสัมพันธ์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งในด้านกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ คือสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่งผลสั่นสะเทือนลึกซึ้งกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งใดๆ ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาหลายสิบปี เป็นการสร้างสิ่งไม่มีชีวิตให้มีคุณลักษณะทางสติปัญญาและความฉลาดคล้ายคลึงกับมนุษย์ สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะข้อมูลมหาศาลที่สลับซับซ้อน เพื่อทำการประมวลผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว นำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การบริการด้านการเงิน  E-Commerce การวินิจฉัยโรค ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ หรือแม้กระทั่งการตรวจจับข่าวโคมลอยบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ AI ยังนำมาใช้กับข้อมูลทางชีวภาพ (Biometrics) เช่น ม่านตา เสียง ลายนิ้วมือ โครงหน้า หรือภาษากาย เพื่อช่วยจดจำรูปแบบ และแยกแยะสำหรับการยืนยันหรือระบุตัวตน

บุคคลผู้มีชื่อเสียงที่เห็นความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ คือ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน(Vladimir Putin) ครั้งหนึ่งได้ไปพูดให้นักเรียนที่เมือง Yaroslavl ฟังในหัวข้อ "โลกอนาคตเป็นของ AI" โดยได้ย้ำว่า เทคโนโลยี AI ไม่เพียงแต่เป็นอนาคตของรัสเซีย แต่ยังเป็นอนาคตของมวลมนุษยชาติ และประเทศใดที่เป็นผู้นำในศาสตร์นี้ จะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในแนวคิดนี้หลายคนเช่นกัน โดยเฉพาะ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอ  SpaceX และ เทสลา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภัยของ AI ที่จะเป็นอันตรายต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ และเสนอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ตระหนักถึงเรื่องนี้พยายามหาทางควบคุมการพัฒนา AI  เสียแต่เนิ่นๆ

เช่นเดียวกับ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชื่อดังระดับโลก เคยคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคต AI จะเข้ามามีบทบาทกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นมนุษยชาติอาจจะถึงจุดจบ เพราะเมื่อ AI เหล่านี้ถูกพัฒนาไปจนถึงขีดสุด จะไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป

บิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ ก็เคยออกมาแสดงความกังวลถึงอนาคตของ AI ว่าจะเป็นภัยคุกคามมนุษย์ บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่คลุกคลีและกำลังศึกษาวิจัย AI กันแทบทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้ดีถึงศักยภาพของ AI

ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ถึงภัยอันตรายของ AI ในอนาคต แม้จะยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนว่า ความก้าวล้ำของปัญญาประดิษฐ์จะเป็นภัยต่อมนุษย์ในลักษณะใด แต่ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่า AI อาจทำให้คนตกงานมากขึ้น เช่น คนขับรถแท็กซี่จะมีผู้ใช้บริการน้อยลงจากการเข้ามาของรถยนต์ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ หรือคนงานตามโรงงานต่างๆ ที่อาจถูกระบบ Automation เข้ามาแทนที่ ในอนาคตการพัฒนา AI อาจก้าวไปถึงขั้นที่ทำงานได้สมบูรณ์แบบเหมือนสมองมนุษย์ AI จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์และอาจปิดกั้นระบบไม่ให้มนุษย์ควบคุมมันได้อีกต่อไป

ความรับผิดชอบในการกระทำที่เกิดจาก AI จะกลายเป็นประเด็นทางจริยธรรม เช่น ถ้าหากระบบที่ทำงานและตัดสินใจด้วยตัวเองเกิดความผิดพลาด ทำให้รถไร้คนขับชนคนบนถนน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จริยธรรมประดิษฐ์ (Artificial Ethics) คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ AI ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลในการตัดสินใจโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) มนุษย์ในฐานะผู้พัฒนาต้องเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกับการมุ่งพัฒนาศักยภาพของ AI ให้เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น บริษัท DeepMind ของ Google เริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้อย่างจริงจังโดยจัดตั้งหน่วยวิจัยจริยธรรม AI เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยตระหนักถึงจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้มากขึ้น และช่วยชี้แนะทิศทางในการใช้งาน AI ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ได้เดินทางมาถึงจุดที่กำลังจะกลายเป็นส่วนสำคัญของสังคมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงถึงเวลาที่เราต้องหันมาสนใจอย่างจริงจังกับการกำกับดูแลให้AI ทำงานภายใต้คุณค่าที่สังคมยอมรับ ความพยายามของ Google ในการให้ความสำคัญกับจริยธรรมและผลกระทบต่อสังคมของ AI เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่ AI จะถูกพัฒนาจนเลยจุดที่มนุษย์จะควบคุมได้

เขียน :

ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ

[email protected]

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว