คณะกรรมการบริหารสถาบันปิดทองหลังพระฯ อนุมัติ 50 ล้านบาท พร้อมจับมือกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทย ขยายผลการผลิตทุเรียนคุณภาพดี เพื่อการส่งออกให้ได้เป้าหมาย 3,000 ตัน หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ ฯ เปิดเผยว่า โครงการต้นแบบพัฒนาทุเรียนคุณภาพดีใน จ.ยะลา ปีแรกที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ กล่าวคือ เกษตรกร 18 ราย ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลผลิตทุเรียน จนมีรายได้เพิ่มขึ้นรายละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ซึ่งภายหลังจากได้เรียนรู้วิธีการดูแลผลทุเรียนและมีการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากทุเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคิดเป็น 3 เท่าต่อต้น เมื่อเทียบกับราคาตลาด และจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังยินดีสนับสนุนด้านการรับซื้อ ทำให้เกิดความมั่นใจในการขยายโครงการดังกล่าว
คณะกรรมการปิดทองหลังพระ ฯ อนุมัติให้เพิ่มการดำเนินงานทั้งใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วม 1,250 ราย จำนวนทุเรียน 25,000 ต้น ผลผลิตทุเรียนเกรดเอบี ไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัน โดยทางสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะระดมความร่วมมือจากทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสนใจและยินดีร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว
นอกเหนือจากโครงการพัฒนาทุเรียนคุณภาพแล้ว สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยังจะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับการพัฒนาในทุกพื้นที่ ให้สอดคล้องกับความเห็นและความต้องการของประชาชนในแต่ละแห่ง ประกอบด้วย การร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาแปลงดอกไม้ในพื้นที่ปิดทองหลังพระ แก่นมะกรูด อุทัยธานี เพื่อส่งเสริมธุรกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ติดกับอุทยานห้วยขาแข้ง ร่วมมือกับกรมชลประทานในการซ่อมแซมและบำรุงแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมอาชีพการเกษตร แก่ชาวกระหร่างบ้านโป่งลึกและบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
รวมถึงได้ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาพืชผักปลอดภัยในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โรงสีชุมชน เพื่อตอบความต้องการอาหารปลอดภัยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากใน จ.อุดรธานี
ส่วนโครงการร่วมมือกับกรมประมง ในการส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ ซึ่งจะเริ่มต้นในพื้นที่ที่มีน้ำ เพียงพอตลอดปี ได้แก่ บริเวณฝายสากอ จ.นราธิวาส และบ้านโป่งลึก แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี