คอนโดฯพัทยาคึก! ผุดใหม่ทะลุ 3 เท่า

27 ม.ค. 2562 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2562 | 11:38 น.
270162-1127

ผู้ประกอบการไทย-เทศแห่เปิดคอนโดฯ ในพัทยา รับสัญญาณบวกลงทุนพื้นที่อีอีซี-ท่องเที่ยว 'คอลลิเออร์ส' เผย ปี 61 ซัพพลายใหม่เพิ่ม 360% สูงสุดรอบ 4 ปี ... นายกสมาคมอสังหาฯชลบุรีชี้! ที่ดินพุ่ง 2.5 แสนต่อ ตร.ว. ห่วงสินค้าล้นตลาด

ไม่เพียงตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เติบโตทำลายสถิติ ใน จ.ชลบุรี แม้จะเป็นตลาดภูมิภาค แต่ขนาดของตลาดรองจากกรุงเทพฯ เนื่องจากในพื้นที่มีครบทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยว ล้วนปัจจัยหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมีแรงผลักดันแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของทางรัฐบาลเพิ่ม ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความคึกคัก โดยเฉพาะที่พัทยา เมืองท่องเที่ยวหลักของภาคตะวันออก ในปี 2561 ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่กว่า 10,000 ยูนิต มูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8,047 ยูนิต หรือมากกว่า 367.1%


GP-3353_180428_0013-16

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จำนวนห้องชุดที่เปิดขายใหม่ในปีที่ผ่านมา ที่มากกว่า 1 หมื่นยูนิต เทียบได้กับสถิติในช่วงปี 2554-2557 มีอุปทานขายใหม่ของคอนโดมิเนียมในพัทยาปีละกว่า 1 หมื่นยูนิต อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดจะดูคึกคัก แต่ยังมีอุปทานเหลือขายอีกกว่า 1.2 หมื่นยูนิต ที่รอการระบาย

"ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการพัฒนาโครงการใหม่ เนื่องจากผู้ซื้อคอนโดมิเนียมในพัทยาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุน หวังผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งน้อยมากที่จะเน้นซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ดังนั้น ไม่ควรโหมเปิดตัวโครงการใหม่มากเกินไป จนตลาดไม่สามารถดูดซับได้ทัน เหมือนอดีตเมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่พัทยามีคอนโดมิเนียมคงค้างในตลาดจำนวนมาก"

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี มองภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่ ว่า ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเห็นถึงสัญญาณบวกที่เกิดขึ้น เดินหน้าลงทุนโครงการ โดยเฉพาะโซนทำเลพัทยา ผู้ประกอบการลงทุนเปิดโครงการใหม่และลงมือก่อสร้างค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจคอนโดมิเนียมของเมืองพัทยา หลัก ๆ เป็นนักลงทุนจากต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักลงทุนไทยมาลงทุนที่พัทยา ส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น 'แสนสิริ' หรือ 'ฮาบิแทท กรุ๊ป' และมีผู้ประกอบการท้องถิ่นบางรายที่ยังลงทุนต่อเนื่อง นอกจากนั้น ระยะหลังมีนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจคอนโดมิเนียมจำนวนหนึ่ง แต่พอนักท่องเที่ยวจีนหาย นักลงทุนกลุ่มนี้ก็ดูจะเงียบ ๆ ไป

 

[caption id="attachment_380235" align="aligncenter" width="500"] เพิ่มเพื่อน [/caption]

v"ถามว่า ปี 2562 สถานการณ์จะเป็นอย่างไรในธุรกิจคอนโดมิเนียม ต้องตอบว่า คงไม่ดี ยอดขายคงลด ยอดโอนกรรมสิทธิ์คงหดตัว เพราะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ภาพอย่างนี้ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ผู้บริโภคก็ชะลอการลงทุนเช่นกัน ประกอบกับมาตรการ LTV ที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 เม.ย. 2562 ก็จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ชะลอกำลังซื้อของลูกค้า"

สำหรับราคาที่ดินในพัทยาขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนจับไม่ได้ ยิ่งมีกระแสการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และพัทยาเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาตามกรอบนี้ โดยราคาขายไม่น้อยกว่า 150,000 บาทต่อตารางวา บนทำเลปกติ หากเป็นทำเลที่สวย มีศักยภาพ ขายกัน 200,000-250,000 บาทต่อตารางวา ที่สำคัญที่สุด คือ หาซื้อไม่ได้


GP-3438_190127_0001

นายปริญญา เธียรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี.เอ็ม.พี.ซี. จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเพื่อขายและให้เช่าจากกรุงเทพฯ ที่ลงทุนโรงแรมโอ๊ควูด โฮเทล แอนด์ เรสซิเด้นท์ ศรีราชา มองโครงการอีอีซี ช่วยกระตุ้นให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน หรือ การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็จะทำให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์น่าจะได้รับประโยชน์ เพราะในส่วนของ โอ๊ควูด โฮเทล ศรีราชา ลูกค้ากว่า 50% ก็เป็นคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในศรีราชาเองก็มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่กว่า 1 หมื่นครอบครัว


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,438 วันที่ 24-26 ม.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คอนโดฯ ปี 61 ทุบสถิติ สร้างเสร็จ-จดทะเบียน กว่า 5.5 หมื่นยูนิต
'ไนท์แฟรงค์' ชี้! ราคาขายคอนโดยังขึ้น สวนทางตลาดชะลอตัว


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว