เชฟรอนไทยระสํ่า! สั่งลดค่าใช้จ่าย1.8หมื่นล./จ่อปลดคน30-40%

17 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2559 | 12:39 น.
นโยบายบริษัทแม่เชฟรอน ลามถึงไทย ประกาศลดค่าใช้จ่ายปีนี้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันร่วง และความไม่ชัดเจนการต่ออายุสัมปทานในแหล่งเอราวัณที่หมดอายุในปี 2566 วางเป้าลดค่าใช้จ่ายใน 7 กลุ่ม พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ปลดพนักงานเกือบครึ่งจาก 5 พันคน หวังลดรายจ่ายเงินได้ถึง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลส.ค.นี้ ขณะที่ปตท.สผ.ยืนยันยังไม่ปลดพนักงาน

จากกรณีที่บริษัท เชฟรอนฯ ยักษ์ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ได้ประสบปัญหาจากการขาดทุนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่คุ้มกับราคาน้ำมันและก๊าซที่จำหน่ายออกไป ทำให้ผลประกอบการของเชฟรอนทั่วโลก ประสบปัญหาด้วย และสะท้อนมายังผลประกอบการของบริษัทแม่ จนในที่สุดเชฟรอนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงต่อไปได้ จึงได้ประกาศที่จะลดจำนวนพนักงานที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ และขณะนี้ก็ได้ลามมาถึงประเทศไทยแล้ว

 สั่งลดค่าใช้จ่าย 500 ล้านดอลลาร์

โดยแหล่งข่าวจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ทางบริษัทแม่ของเชฟรอน ในสหรัฐอเมริกา มีนโยบายที่จะให้เชฟรอนในประเทศลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจลงแล้ว เนื่องจากผลประกอบการในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดี เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ตกต่ำ การผลิตไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องลงทุนไป ประกอบกับทางรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายว่า จะมีการต่ออายุสัมปทานในแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดอายุลงในปี 2566 หรือไม่ หากลงทุนไป อาจไม่คุ้มได้

จากเหตุผลดังกล่าว ทางบริษัทแม่จึงต้องการใช้เชฟรอนในไทยลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ลงราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 1.8 หมื่นล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)ซึ่งแบ่งการลดค่าใช้จ่ายออกเป็น 7 กลุ่ม โดยประมาณ 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้สำหรับลดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การปรับลดสัญญาในด้านสเปกทางเทคนิคลงมา 2.การลดการสั่งผลิตแท่นผลิต จะใช้เท่าที่จำเป็น 3.การปรับปรุงหรือลดการส่งกำลังบำรุง ใช้เรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ในระดับเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสม 4.การปรับปรุงด้านการซ่อมบำรุงให้มีความรัดกุมและเหมาะสมกับความต้องการ 5.การลดสินค้าหรือวัสดุคงคลังให้เหลือต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ 6.การใช้หลุมผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และ7.อีกราว 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้สำหรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลกรให้มีความเหมาะสมกับองค์กรและเหมาะสมกับงาน

 เลิกจ้างพนักงาน 30-40%

ทั้งนี้ หมายความว่าจะต้องมีการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงมา ด้วยการปลดพนักงานประจำออก30-40% จากที่มีอยู่ประมาณ 5 พันคน ขณะที่ผู้รับเหมาที่มีพนักงานอยู่ราว 4 พันคน บางส่วนอาจจะได้รับผลกระทบจากการไม่ต่อสัญญาอีกด้วย ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของเชฟรอนในไทยให้มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างองค์กรอยู่ และน่าจะมีความชัดเจนประมาณเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากทางผู้บริหารก็ได้เริ่มส่งสัญญาณให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบบ้างแล้ว ถึงรูปแบบผลการศึกษาที่จะออกมา

โดยรูปแบบหนึ่งในการดูความเป็นไปได้นั้นระบุเป็นทางออกทางหนึ่งว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 จะมีการปลดพนักงานออกทั้งหมด 5 พันคน และให้มีการสมัครเข้ามาใหม่ และจะมีการคัดเลือกพนักงานที่มีประสิทธิภาพเอาไว้ราว 2.5 พันคน ส่วนที่ไม่ได้รับคัดเลือกก็จะต้องถูกออกจากงาน โดยจ่ายค่าถูกเลิกจ้างตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งคาดว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้เป็นต้นไป

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการปลดพนักงานดังกล่าว พนักงานส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรม เนื่องจากทางบริษัทแม่เพิ่งประสบปัญหาขาดทุนเพียงปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนการผลิตน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย ต้นทุนก็ยังต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันก็ปรับขึ้นไปที่ระดับ 35-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว อีกทั้ง ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปถึงระดับกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทางบริษัทแม่ก็ได้รับกำไรส่วนนี้ไปมาก แต่ทำไมเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำเพียงไม่กี่ปี จึงต้องมาปลดพนักงานถือว่าเป็นการเอาเปรียบที่มากเกินไป

 เชฟรอนยืนยันปรับโครงสร้างใหม่

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ติดต่อไปยังบริษัท เชฟรอนฯ เพื่อยืนยันการปลดพนักงานนั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่า ทางบริษัทแม่ สามารถให้ข้อมูลได้เพียงสั้นๆ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เชฟรอนประเทศไทยจึงต้องปรับแผนและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้บริษัท รักษาความสามารถในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว นอกจากนี้ เชฟรอนยังอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนโครงสร้างและขนาดขององค์กรให้มีความเหมาะสม เพื่อดำเนินภารกิจการจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

 ปตท.สผ.ยันไม่ลดพนักงาน

ส่วนทางด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานโครงการผลิตและสนับสนุนปฏิบัติการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ.เปิดเผยว่า จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำในเวลานี้ ทางบริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากรหรือมีการปลดพนักงานเกิดขึ้น แต่ได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการชะลอการลงทุนด้านสำรวจขุดเจาะและหลุมผลิตใหม่ๆ การดำเนินงานเวลานี้ เพียงแต่ลงทุนด้านการดำเนินงาน และรักษากำลังการผลิตให้สามารถส่งมอบได้ตามสัญญาไว้เท่านั้น หากจะขยายการลงทุนเพิ่มคงต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันว่าจะกลับมาสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด

สำหรับกระแสการปลดพนักงานนั้น อาจจะเป็นในส่วนของบริษัทผู้รับเหมา ที่หมดสัญญาในโครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในการดำเนินงานโครงการ

 ภาครัฐเตือนเจรจาหาทางออก

ขณะที่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมยังไม่ได้รับรายงานว่ามีบริษัทที่ได้รับสัมปทานผลิตปิโตรเลียมรายใด มีการปลดพนักงานจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ตกต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ให้นโยบายกับบริษัทต่างๆ ไปแล้ว ในฐานะที่กำกับดูแลด้านการให้สัมปทานจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหากมีการปลดพนักงานเกิดขึ้น

พร้อมทั้งกำชับให้มีการหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน โดยการเจรจาหรือทำความเข้าใจกันก่อน และให้เลือกการปลดพนักงานเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาสมัยที่บริษัท เชฟรอนฯเข้าซื้อกิจการยูโนแคล ก็ได้มีการเจรจากัน และพนักงานยินดีที่จะลดเงินเดือน ดังนั้น หากบริษัทผู้รับสัมปทานจะมีการปลดพนักงานเกิดขึ้นจริง จึงอยากให้ผู้บริหารมีการเจรจากันก่อนที่จะเลือกการเลิกจ้างงานเป็นลำดับแรก

 ไล่ปลดพนักงานเป็นรายประเทศ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผลจากที่บริษัท เชฟรอนฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาการขาดทุนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปีนี้ ได้ประกาศที่จะทยอยปลดคนงานในหลายพื้นที่ปฏิบัติการทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่เข้าสู่วงจรขาลงมาเกือบ 2 ปีเป็นเหตุให้เชฟรอนประสบภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงส่งผลให้รายได้ของบริษัทหดหายไปมากกว่า 1 ใน 3 โดยตัวเลขขาดทุนของเชฟรอนอยู่ที่ 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปี 2557 บริษัทยังสามารถอยู่ในภาวะทำกำไรที่ 3.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทจำเป็นต้องชะลอหรือเลื่อนการลงทุนใหม่ๆ ลดค่าใช้จ่าย และปลดคนงานจำนวนมาก และเมื่อมองภาพรวมทั่วโลกสำหรับเชฟรอน พบว่าในปี 2558 บริษัทปลดคนงานไปแล้ว 3.2 พันคน ส่วนปี 2559 นี้ บริษัทมีแผนจะปลดออกอีก 4 พันคนเพื่อปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินธุรกิจของเชฟรอน

 บริษัทโดนออก1.5พันคน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชฟรอนได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะปลดคนงานในสหรัฐอเมริกาเกือบ 1.5 พันคนเพื่อการนี้ นายฌอน โคมี โฆษกของเชฟรอนเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนปลดคนงานทั้งสิ้นจำนวน 5.7 พันคนภายในระยะ 3 ปี "กระบวนการปลดพนักงานเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่มันก็ครอบคลุมทุกลำดับชั้นตั้งแต่ฝ่ายบริหารลงไป" โฆษกของเชฟรอนย้ำว่า มาตรการปลดคนงานเกิดจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ คืออุปทานน้ำมันมากกว่าอุปสงค์ ไม่ได้เกิดจากความสามารถในการสร้างผลประกอบการของส่วนงานต่างๆของเชฟรอนแต่อย่างใด และเฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ เชฟรอนจะปลดคนงานในส่วนงานด้านการตลาดและงานโรงกลั่นจำนวนกว่า 20 % เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง เชฟรอนยังระบุด้วยว่า ธุรกิจในเครือที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นและเคมีภัณฑ์ ก็จะมีการปลดคนงานด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังมีแผนขายสินทรัพย์เพิ่มเติม โดยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนตัดสินทรัพย์บางส่วน เช่น ท่อลำเลียงน้ำมัน ฯลฯ ขายไปแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแผนจะขายเพิ่มเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์นับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2560

นายจอห์น วัตสัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของเชฟรอนยอมรับว่า อุปสงค์ของตลาดมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น แต่จุดที่เป็นปัญหาคือปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลกมีล้นเกินจนตลาดซึมซับไม่ทัน อย่างไรก็ตาม เขาคาดหมายว่า ความพยายามที่จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะเป็นเหตุผลหลักในการสร้างสมดุลให้ตลาดในปีนี้ แต่ก่อนจะถึงจุดสมดุลนั้น ราคาน้ำมันก็จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559