รีด "ภาษีนํ้าหวาน" ฟัน 3 บาทต่อลิตร

15 มี.ค. 2562 | 08:27 น.

รีด \"ภาษีนํ้าหวาน\" ฟัน 3 บาทต่อลิตร

สรรพสามิตรับ! ยังไม่เห็นค่ายนํ้าดำปรับสูตรรับภาษีนํ้าหวาน 1 ต.ค. เก็บเพิ่ม 3 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการร้องรัฐหามาตรการเสริมที่ไม่ใช่ภาษี ด้าน "ค่ายเป๊ปซี่" ยัน! ไม่ช่วยให้คนทานหวานน้อยลง เหตุมีทางเลือกอื่น ยัน! ยังไม่ขึ้นราคา หันปรับขนาดแทน ... 'โค้ก' ลั่น! เดินหน้านวัตกรรมเปิดตัวสินค้าสุขภาพตอบโจทย์ผู้บริโภค


ภายใต้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตปัจจุบัน มีการจัดเก็บ "ภาษีความหวาน" เฉลี่ยที่ 1 บาทต่อลิตร แต่หลังวันที่ 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564 อัตราภาษีจะเพิ่มเป็น 3 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มสูงสุด 5 บาทต่อลิตร ทำให้เครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนดจะต้องเสียภาษีมากขึ้น

รีด \"ภาษีนํ้าหวาน\" ฟัน 3 บาทต่อลิตร

⇲ ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต


นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ภาษีนํ้าอัดลมจะปรับเพิ่มจาก 50 สตางค์ จะเป็น 1 บาท ซึ่งก็ขึ้นกับผู้ผลิต ว่า จะมีการปรับสูตรลงหรือไม่ หรือจะมีการผลักภาระให้กับผู้บริโภค หรือรับภาระไว้เอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นภาพ เพราะถ้าภาษี 1 บาทต่อลิตร ขวดขนาด 250 ซีซี อาจจะขึ้นแค่ 10 สตางค์ ไม่ได้ขึ้นเยอะมาก ซึ่งราคาขึ้นกับผู้ประกอบการ เพราะจะปรับจาก 10 บาท ขึ้นเป็น 10.10 บาท คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะปรับขึ้นคงเป็น 11 บาท แต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกอื่นเช่นกัน

รีด \"ภาษีนํ้าหวาน\" ฟัน 3 บาทต่อลิตร

"การขึ้นภาษีรอบแรก ต้องขอบคุณทางผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขึ้นราคา มีการปรับขนาดและปรับสูตรแทน อย่างเครื่องดื่มนํ้าอัดลมที่เป็นนํ้าสี ปรับสูตรจาก 14 กรัม เหลือ 12 กรัม ถือว่าปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคของที่ดีขึ้น แต่ที่เป็นนํ้าดำ พวกเป๊ปซี่ โค้ก ยังไม่ได้ปรับสูตร ซึ่งต้องรอดูว่า ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรต่อไป เพราะนํ้าดำเป็นรายได้หลัก และรสชาติทั่วโลกจะคล้ายกัน การจะปรับสูตรที่เป็นเฉพาะของไทยอาจต้องหารือ ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องเพิ่มราคาหรือรับภาระเอง"

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการจะปรับสูตรลง แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผู้ประกอบการมองว่า ภาครัฐไม่ให้ความร่วมมือที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ผู้ประกอบการพยายามออกสินค้าที่เป็น Healthier Choice แต่ภาครัฐโปรโมตไม่ดีพอ ผู้บริโภคไม่ตอบรับ จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐหารือกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเรื่องค่าธรรมเนียมแรกเข้าในการวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า เพราะจะมีเกณฑ์ว่า หากสินค้าไม่เดิน 3 เดือน ต้องเอาออกแล้วเอาเข้าไปใหม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกเป็นแสนบาท

นายจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ SPBT บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การจัดเก็บภาษีความหวานช่วงแรกเป็นเพียงการสร้างโครงสร้างระบบภาษีจึงเก็บในอัตราตํ่าและเป็นช่วงการปรับตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้ทิศทางดำเนินงาน ก่อนจะมีการปรับขึ้นอีกระลอกช่วงเดือน ต.ค. นี้ จึงเป็นช่วงให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับทิศทางการดำเนินงาน ปรับสูตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นํ้าตาลตํ่า เพื่อไม่ต้องโดนภาระภาษีที่สูงจนเกินไป แม้ที่ผ่านมาจะมีการเก็บภาษีความหวาน แต่ไม่ได้ช่วยให้อัตราคนทานหวานน้อยลงแต่อย่างไร


อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนทั้งในส่วนของนวัตกรรมการตลาดจำนวนมาก ควบคู่กับการเปิดตัวสินค้าเครื่องดื่มนํ้าตาลตํ่าในหลายเอสเคยู เพื่อนำเทรนด์คนที่ใส่ใจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น อควาฟิน่า วิตซ่า, มิรินด้า มิกซ์อิท, ลิปตัน สูตรนํ้าตาลตํ่า และเซเว่น อัพ สูตรนํ้าตาลตํ่ากว่า 6 กรัม และยังลงทุนปรับโฉม "เป๊ปซี่แมกซ์" เป็น "เป๊ปซี่ แมกซ์ เทสต์" และเปิดตัว "เป๊ปซี่ แมกซ์ เทสต์ ราสเบอร์รี" ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด ต้องดูทิศทางในอนาคต แต่เบื้องต้น จะนำกลยุทธ์ด้านขนาดที่หลากหลายมารองรับความต้องการของผู้บริโภคแทน

ด้าน นายคาร์ลอส ดิแอช-ริกบี้ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มอัดลมปีนี้ แม้หลายฝ่ายจะออกมาคาดการณ์ ว่า จะได้รับผล
กระทบจากการจัดเก็บภาษีนํ้าหวานอีกระลอก แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของตลาด และยังจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน สังเกตได้จากปีที่ผ่านมา ที่มีการประกาศภาษีนํ้าหวานครั้งแรกในไทย ภาพรวมตลาดก็ยังสามารถโตได้ 1.74% ปัจจัยหลัก คือ การเปิดตัวแคมเปญของแต่ละค่าย โดยเฉพาะโค้กที่ให้ความสำคัญกับการเปิดตัวแคมเปญใหญ่รุกตลาดในช่วงหน้าร้อนนี้ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

แผนงานจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการเปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่ ทั้งในส่วนของสูตรดั้งเดิม, สูตรนํ้าตาลตํ่า และไม่มีนํ้าตาล ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าที่ได้รับฉลากทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) 6 รายการ คือ มินิทเมด ออเร้นจ์ ไฟเบอร์, โค้ก พลัส คอฟฟี่, ฟิวซ์ที เครื่องดื่มชาผสมนํ้าเสาวรสและเมล็ดเชีย, โค้ก โนชูการ์ และโค้กไลท์ ซึ่งหากทิศทางในตลาดนํ้าตาลตํ่าเติบโตดี แน่นอนว่า บริษัทพร้อมจะขยายไลน์สินค้านํ้าตาลตํ่าไปยังเครื่องดื่มอัดลมแฟนต้า แต่คงขึ้นอยู่กับทิศทางความต้องการของผู้บริโภคด้วย

"เราพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการปรับสูตร เปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับตลาด โดยแผนงานในอนาคต คงต้องรอดูทิศทางความต้องการของผู้บริโภค ว่า มีความต้องการในทิศทางใด และพร้อมที่จะเปิดตัวนวัตกรรมตอบสนองทันที แน่นอนว่า เทรนด์โลว์ชูการ์ คือ อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง"


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,452 วันที่ 14 - 16 มี.ค. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ไขข้อข้องใจ! “ภาษีน้ำหวาน”
แก้เกมสู้ภาษีน้ำหวาน เครื่องดื่มแบรนด์ดังซุ่มปรับแผนป้องตลาดหด

รีด \"ภาษีนํ้าหวาน\" ฟัน 3 บาทต่อลิตร