ซีพีออลล์ เร่งผลิตครูหมากล้อม ส่งเสริมการพัฒนา IQ&EQ

30 มี.ค. 2562 | 07:01 น.

‘หมากล้อม’ กีฬาเสริมทักษะ ที่ปัจจุบัน กำลังขาดแคลนครูฝึก ซึ่งปัจจุบัน ซีพีออลล์ และชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมผลักดัน ส่งเสริม พร้อมเร่งดำเนินการผลิตบุคลากรครู หลังกีฬาหมากล้อมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาช้างน้อยเกมสังกัดกรุงเทพฯ เป็นชนิดกีฬาที่ 22 ที่ทุกโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญ

นายรัชชยุต ภูวัชร์เตชากร  ประธานชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีคนหันมาเล่นกีฬาหมากล้อมเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคุณครูยังขาดแคลน แม้ว่าทางชมรมจะเร่งดำเนินการผลิตบุคลากรก็ตาม เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะสูง เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครูสอนหมากล้อม จึงมีการบรรจุกีฬาหมากล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาช้างน้อยเกมสังกัดกรุงเทพฯ เป็นชนิดกีฬาที่ 22 ที่ทุกโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาครูหมากล้อม เพื่อมาช่วยพัฒนา IQ และ EQ ของนักเรียนต่อไป ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฯ ตั้งเป้าพัฒนาครูหมากล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของกีฬาหมากล้อม ที่ปัจจุบันเด็กในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้

นายก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หมากล้อมเป็นกีฬาที่ไม่คิดเอาแพ้เอาชนะ เพราะด้วยปรัชญาของกีฬานี้คือ “ชนะโดยไม่คิดเอาชนะ” เป็นกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นไม่ว่าเก่งมากหรือเก่งน้อย มีบุคลิกหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีความนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าว รู้จักแบ่งปัน ควบคุมอารมณ์ เพราะเนื้อหาที่ฝึกเป็นประโยชน์

สมาคมฯ จะเดินหน้าสนับสนุนกีฬาหมากล้อมอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่บุคลากรและนักกีฬา ผ่านการจัดอบรมและการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการฝึกฝนพัฒนาฝีมือของนักกีฬา รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาหมากล้อมอย่างต่อเนื่อง

ซีพีออลล์ เร่งผลิตครูหมากล้อม ส่งเสริมการพัฒนา IQ&EQ

ล่าสุด  ด.ช.พงษ์เมธ วิโรจน์ธรรม หรือ “น้องเจ๋ง” วัย 14 ปี นักหมากล้อมรุ่นใหม่ที่มีฝีมือระดับ 3 ดั้ง ได้ชื่อว่าเป็นครูสอนหมากล้อมที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศ โดย“น้องเจ๋ง” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่วงการกีฬาหมากล้อมว่า เริ่มเล่นหมากล้อมตอนอายุ 9 ขวบ โดยคุณครูที่สอน Mind Map เอามาให้ลองทำ และรู้สึกสนุกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นที่ถูกกำหนดด้วยขนาดตัว อายุ เพศ หรือพละกำลังในการเล่น หมากล้อมเป็นกีฬาที่ไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ใช้เพียงสมองในการคิดวางแผนการเล่น และที่สำคัญได้ฝึกสมาธิ จึงบอกคุณแม่ว่าให้ช่วยหาที่เรียนให้หน่อย

เมื่อได้มาเรียนอย่างจริงจัง น้องเจ๋งยิ่งหลงเสน่ห์ของ “กีฬาหมากล้อม” เพราะนอกจากประโยชน์ที่รับโดยตรงด้านเชาวน์ปัญญา หรือ IQ ผ่านการฝึกกระบวนความคิดในเกมกีฬาแล้ว ยังสามารถนำรูปแบบการจัดกระบวนความคิดที่ได้ฝึกฝนไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันและการเรียนได้อีกด้วย เช่น การจัดลำดับความสำคัญของงาน ว่างานชิ้นไหนควรทำให้เสร็จก่อน

สถานที่สอนหมากล้อมของน้องเจ๋ง ภายใต้ Go Family

สิ่งที่ได้จากการเล่นหมากล้อมคือ สมาธิและการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เพราะในการเล่นแต่ละครั้งก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอบนกระดาน ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหา รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญว่าจะแก้ปัญหาเรื่องไหนก่อน หมากล้อมเป็นเกมที่สนุก ใช้เทคนิคค่อนข้างเยอะ ไม่จำเป็นต้องกินหมากของอีกฝ่ายให้หมด เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้มากกว่าในอนาคต ด.ช.พงษ์เมธ กล่าว

 ด้วยใจรักในกีฬาหมากล้อมบวกกับการฝึกฝนอย่างจริงจัง ทำให้น้องเจ๋งมีพัฒนาการในการเล่นหมากล้อมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนักหมากล้อมรุ่นจิ๋ว ปัจจุบัน “น้องเจ๋ง” กลายเป็นผู้ถ่ายทอดหมากล้อมให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ที่โรงเรียน พร้อมกับเปิดบ้านตั้งชมรมหมากล้อมนนทบุรี หรือ GO Family ทำให้กลายเป็นครูสอนหมากล้อมที่อายุน้อยที่สุดของเมืองไทยมีลูกศิษย์จำนวนมาก โดยลูกศิษย์ที่เล็กสุดอยู่ชั้นอนุบาล 3

สำหรับเป้าหมายระยะสั้นของน้องเจ๋งในช่วง 2-3 ปีนี้คือ การก้าวสู่ระดับ 5 ดั้ง ภายใต้เป้าหมายของการเป็นมืออาชีพในอนาคต


ซีพีออลล์ เร่งผลิตครูหมากล้อม ส่งเสริมการพัฒนา IQ&EQ