‘Data Scientist’ ผู้สร้างอิมแพ็กต์การเรียนรู้ สู่การทรานสฟอร์มองค์กรไทย

24 ส.ค. 2562 | 07:00 น.

จากนักเรียนทุนอานันทมหิดล ที่มีเพียงสัญญาใจว่า “เมื่อเรียนจบ ต้องกลับมาทำอะไรเพื่อประเทศชาติ” สัญญาใจนี้ ได้เป็นตัวเชื่อมสำคัญ ที่ดึงให้ “ต้า-ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล” ทายาทแลคตาซอย ยอมทิ้งงาน Data Scientist ที่ Facebook กับเงินเดือนมหาศาล มาสร้าง ธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “Skooldio” (สคูลดิโอ) ที่เมืองไทย ด้วยเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้ไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น สังคมไทยขยับตัวดีขึ้น ด้วยเป้าหมายคือ การสร้าง Social Impact หรืออิมแพ็กต์ที่เห็นผลจริง... ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะเดินสู่เป้าหมายนั้นได้ทุกงานที่ทำ แต่ดอกเตอร์หนุ่มคนนี้ ก็มีวิธีการของเขา  

“ดร.วิโรจน์” กับวัยเพียง 30 ต้นๆ ได้พกพาความรู้ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกที่Massachusetts Institute of Technology (MIT) สาขา Transportation และ Operations Research ด้วย
ทุนอนันทมหิดล ซึ่งไม่ได้มีสัญญาผูกมัด แต่สิ่งที่ตระหนักอยู่เสมอในใจ คือ การนำความรู้ความสามารถที่มี กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

‘Data Scientist’ ผู้สร้างอิมแพ็กต์การเรียนรู้ สู่การทรานสฟอร์มองค์กรไทย

ดอกเตอร์หนุ่มคนนี้ ตระหนักดีว่า แม้จะเรียน Data Science ซึ่งถือเป็นสาขาที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 แต่ถ้าขาดความรู้ความเข้าใจในตัวงานหลายๆ ส่วนจริงๆ ก็ใช่ว่าจะได้งาน แม้จะจบจากสถาบันที่ดีที่สุดในโลกก็ตาม เพราะฉะนั้น เขาจึงใช้เวลาช่วงซัมเมอร์ปีสุดท้ายกับ Boot Camp เพื่อปรับตัว ฝึกทักษะ ที่ควรต้องมีก่อนเข้าทำงาน ซึ่งใน Boot Camp จะแนะให้ไปเรียนทักษะโน้นนี้เพิ่มเติม ไม่งั้นเวลาไปตอบสัมภาษณ์ ก็จะตอบเขาไม่ได้ ก็คือไม่ได้งาน และด้วยการเตรียมพร้อมตัวเอง จึงทำให้เขามีโอกาสได้เข้าทำงานที่ เฟซบุ๊ก องค์กรที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันถึง 

เขาทำงานอยู่กับ เฟซบุ๊กในหน้าที่ Data Scientist ถึง 3 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเขามีโอกาสกลับมาเมืองไทยเรื่อยๆ จนปีสุดท้ายที่กลับมาพูดที่จุฬาฯ และพบว่ามีคนสนใจมากๆ กับเรื่องของ Data Scientist และขณะนั้นก็ยังไม่มีใครทำเลย ก็เลยเริ่มคุย และเริ่มคิดว่า ถ้ายังอยู่เฟซบุ๊ก เขาคือหนึ่งในพนักงานกว่าหมื่นคนของเฟซบุ๊ก แต่ถ้ากลับมาเมืองไทยตอนนั้น เขาจะสามารถช่วยทุกคน ทุกธุรกิจได้เยอะมาก เพราะหลายๆ องค์กรกำลังต้องการทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

เขาจึงตัดสินใจกลับเมืองไทย โดยหวังจะเข้าไปทำงานในองค์กรสักแห่ง แต่ในที่สุด ก็ไม่มีที่ไหนที่รู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ตลาดมีความต้องการ จึงเป็นที่มาที่ทำให้เขาเปิด Skooldio แพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องการความรู้ และผู้เชี่ยวชาญให้มาเจอกัน

ความตั้งใจของ Skooldio คือ การช่วยให้คนมีทักษะที่โลกกำลังต้องการ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว Skooldio จะทำหน้าที่ศึกษาเทรนด์ใหม่ พร้อมทั้งนำผู้เชี่ยวชาญ (expert) ในแต่ละด้าน มาช่วยสอนและพัฒนาทักษะของคนไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ องค์กร เพราะองค์กรจะมีโรดแมปในการพัฒนาองค์กรและพัฒนาคนที่ชัดเจน

‘Data Scientist’ ผู้สร้างอิมแพ็กต์การเรียนรู้ สู่การทรานสฟอร์มองค์กรไทย

สิ่งสำคัญที่ดอกเตอร์ผู้ก่อตั้ง Skooldio ต้องการคือ การสร้างให้เกิดอิมแพ็กต์ คนเรียนต้องได้ความรู้ ต้องเรียนจบ และได้พัฒนาทักษะจริงๆ โดยเขาจะสามารถวัดผลได้จาก ทักษะที่เพิ่มขึ้นของผู้เรียน ประสิทธิภาพของงานที่เพิ่มขึ้นขององค์กร โดยพนักงานองค์กรเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องมาเริ่มต้นใหม่ เพียงแค่ Reskill ให้ได้ทักษะที่ตรงกับความต้องการขององค์กรที่จะเดินหน้า โดยทักษะที่ Skooldio วางไว้กำหนดเป็น 3 หมวดใหญ่ คือ ด้านเทคโนโลยี ด้านดีไซน์ และด้านธุรกิจ 

อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า “ดร.วิโรจน์” คนนี้ ต้องการทำงานที่สร้างให้เกิดอิมแพ็กต์จริงๆ เพราะฉะนั้น เขาจึงพิถีพิถันกับเลือกผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ จริงๆ มีผลงานที่คนจับต้องได้จริงๆ ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของทีมงาน ที่ต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายซัพพอร์ตให้กับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ในการจัดแผนการสอน ก็ต้องเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี พร้อมเปิดใจเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งดอกเตอร์บอกว่า เขาพยายามสร้างและหาสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้กับทีมงานของเขาด้วยเช่นกัน 

...เพราะเขาเชื่อว่า “หากเราไม่สามารถสอนคนในองค์กรเราให้เก่งขึ้นได้ ก็อย่าแบกหน้าไปสอนคนอื่น...”

“สคูลดิโอจริงๆ เป็นแพลตฟอร์ม ส่วนหนึ่งคือ ลูกค้าอยากเรียนอะไร และอีกส่วนหนึ่งคือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนเขาอยากจะสอนอะไร เราก็เอาแมตช์กัน เราเลือกคนสอนมากๆ และเมื่อเลือกมาแล้ว เราต้องดูแลเขาอย่างดี เราช่วยเขาทำวัตถุดิบในการสอน บางคนอาจไม่เก่งเรื่องวิธีสอน เราก็จะมาคุยกัน ควรทำเวิร์กช็อปอย่างไร กระตุ้นการเรียนรู้อย่างไร ทำอย่างไรให้ในคลาสเรียนสนุก และคนสนใจเรียนได้ความรู้จริงๆ” 

หลังจากเปิดธุรกิจมาได้กว่า 2 ปี สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า Skooldio ประสบความสำเร็จ คือ ตอนนี้กำลังเข้าสู่ไตรมาส 3-4 แต่ละองค์กรจะส่งโรดแมปของเขามาให้เรา ปีหน้า Skooldio อยากมาช่วยเสริมตรงไหนบ้าง ออกแบบมา แล้วเราจะได้มาวางงบ แล้วคุยกัน..ตอนนี้เราไม่ต้องไปวิ่งขายหนักๆ แล้ว ตอนนี้เราเลือกคนที่มีความคิดคล้ายๆ กับเรา จับมือเดินด้วยกันได้เร็วที่สุด

จากคอร์สเรียนที่ตั้งไว้ 30-40 คอร์ส“ดร.วิโรจน์” บอกว่า มันเป็นเพียงไกด์ไลน์ เมื่อถึงเวลาจริงๆ แต่ละองค์กรจะมีการเข้าไปพูดคุยกันว่าเขาต้องการอะไร แล้วคัสตอมไมซ์หลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของแต่ละที่ 

‘Data Scientist’ ผู้สร้างอิมแพ็กต์การเรียนรู้ สู่การทรานสฟอร์มองค์กรไทย

ด๊อกเตอร์หนุ่มคนนี้ ทิ้งท้ายว่า การ Reskill การพัฒนาทักษะ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญคือ Mindset ไม่ว่าจะเรื่อง Agile, Design Thinking, Machine Learning, Data Scientist หรือทักษะอื่นๆ ผู้เรียนต้องมี Mindset ที่เปิดรับ พร้อมเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ตลอดเวลา รวมถึงตัวของเขาเอง ก็เรียนรู้ อยู่ตลอด เพื่อศึกษาเทรนด์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่ง 

ผู้บริหารคนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรสตาร์ตอัพอย่าง Skooldio เท่านั้น แต่เขายังเป็นอาจารย์สอนเรื่อง “Data Science” ทั้งปริญญาตรีและโท ที่จุฬาฯ รวมทั้งยังได้รับการรับรองจาก Google ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้สร้าง คอมมิวนิตีเกี่ยวกับเรื่อง Machine Learning รวมทั้ง AI ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีงานสัมมนาที่พูดถึงทิศทางของ AI ในเมืองไทยเป็นอย่างไร 

การทำงานในหลายๆ ส่วน“ดร.วิโรจน์” ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็อยากที่จะทำ ส่วนหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานที่เฟซบุ๊ก ทำให้เขารู้ว่า สำหรับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ  ไม่มีคำว่า Work-Life Balance แต่มันกลายเป็น Work Life Integration งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกๆ คนจะอยากทำงานอีกนิด เพื่อเป้าหมายที่เขาต้องการเห็น นั่นคือ mindset ที่พวกเขามี 

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ผู้ก่อตั้งคนนี้เพียรพยายามที่จะทำ มันคือเป้าหมายสู่ความสำเร็จที่เขาต้องการ นั่นคือ...“ผมมาทำงานตรงนี้ ผมแคร์อิมแพ็กต์ ที่สุด ผมอยากให้สุดท้ายเราได้ช่วยสร้างคนจริงๆ” นี่คือความตั้งใจที่ “ดร.วิโรจน์” ยํ้าอีกครั้ง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562

‘Data Scientist’ ผู้สร้างอิมแพ็กต์การเรียนรู้ สู่การทรานสฟอร์มองค์กรไทย