จากวิกฤติขยะทางทะเล ที่สู่วิกฤติ “พะยูนแห่งชาติ”...น้องมาเรียม กับสถานการณ์แพขยะพลาสติกยาวกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่งจังหวัดชุมพร และการตายของวาฬนำร่องที่พบถุงพลาสติกถึง 85 ชิ้นในท้อง
อีกทั้งยังมีกรณีเกาะสีชัง ที่เป็นตัวอย่างปัญหาของแหล่งขยะที่มาจากการขนส่งระหว่างประเทศ
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงมาตรการบริหารจัดการขยะทั้งบนบกและในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับการตีพิมพ์งานวิจัยของ Jambeck ในวารสาร Science เมื่อปี 2558 ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติก ที่ขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะทะเล แนวทางการป้องกันและแก้ไขสำหรับประเทศไทย ภายใต้โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อ ในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกมีนํ้าหนักเบา ไม่สามารถย่อยสลายได้ในระยะสั้น และขยะพลาสติกที่พบในทะเลส่วนใหญ่ เกิดจากกิจกรรมบนบกถึง 80% ดังนั้นหากยังไม่รีบแก้ไข หรือป้องกันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งทำลายระบบนิเวศปะการัง การตายของสัตว์ทะเลหายาก
ดังนั้น การจัดการขยะทะเลต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทางคือ คน โดยต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชน และการปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเก็บขยะแล้วนำไปรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปลี่ยนมุมมองของคนทิ้งขยะ ไม่มองขยะเป็นเพียงแค่ขยะหรือของเหลือทิ้งแต่มองขยะให้เป็นวัตถุดิบ ให้การจัดการขยะเป็นเรื่องของ business model ทำให้เห็นประโยชน์จากขยะ มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา และอาจให้รางวัลหรือมอบประกาศนียบัตรการจัดการขยะที่ดีให้แก่ ที่พักอาศัย คอนโดฯ หอพัก โดยใช้หลักการเดียวกับกรณีร้านค้า โรงแรม หรือโรงงานที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล และการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีนํ้าเงิน มาเป็นเครื่องมือประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันขยะทะเล เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะทะเล จากงานวิจัยนี้ มี 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การป้องกันปัญหาขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดขยะทั้งบนบกและในทะเล โดยการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดทั้งบนบก ในพื้นที่เกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง ออกมาตรการให้ผู้ผลิต ลด เลิก ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต การควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดขยะทะเล และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีนํ้าเงิน 2. การแก้ไขสถานการณ์ขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก การรองรับและจัดการขยะจากกิจกรรมบนบกและในทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มบริการจัดเก็บขยะให้เข้าถึงทุกชุมชนอย่างสมํ่าเสมอ การคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบ จัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะ หรือ ธนาคารขยะ
3. การแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง พัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการติดตามเพื่อจัดการและจัดเก็บขยะในทะเล รวมทั้งแก้ไขปัญหา Microplastic และ Microbeat ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร และ 4. กลไกภาพรวม โดยการกำหนดให้มีเขตบริหารจัดการทรัพยากรจังหวัดในทะเล และการวางแผนที่การใช้ประโยชน์ ที่มีกระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การมี Business model เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับ Political economy รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้ทันสมัยและเอื้อต่อการบริหารจัดการขยะในระดับประเทศ
ปัจจุบันปัญหาขยะทะเล ถูกบรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)เป้าหมายที่ 14 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเป้าประสงค์ที่ 14.1 การลดมลพิษทางทะเลรวมถึงขยะทะเล และจากข้อมูลสถานการณ์ขยะในประเทศไทย ในปี 2561 พบว่า คนไทยสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน คิดเป็น 76,360 ตัน/วัน ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 27.82 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีถูกต้อง 10.88 ล้านตัน หรือคิดเป็น 39.1% ส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่มี 9.58 ล้านตัน หรือคิดเป็น 34.4% ขณะที่ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมีกว่า 7.36 ล้านตัน หรือ 26.5% และยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม โดยบริเวณที่พบขยะตกค้างมากที่สุดคือ ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล และส่วนใหญ่พบเป็นถุงพลาสติก
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,500 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562