วันนี้ (13 กันยายน 2562) เมื่อเวลา 10.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมรับทราบโครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติ ตามที่กระทรวงกลาโหมนำเสนอร่างแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่คลองคูเมืองเดิม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วยแนวคิดต่างๆ ทั้งการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ การปรับปรุงภูมิทัศน์ การเพิ่มจุดหมายตา ปรับปรุงแนวทางแนวเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่างๆ พื้นที่สาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยว การขุดลอกคลอง ทั้งนี้ ประธานได้ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ รับทราบต่อไป
โอกาสนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่ของสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม โดยการออกแบบอาคารที่พักอาศัยและบริเวณระเบียงจะต้องคำนึงถึงทัศนียภาพ พร้อมเห็นชอบการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสีของอาคารและสีผนังอาคาร ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองประสานกรุงเทพมหานครออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น การควบคุมสีของอาคาร วัสดุ ความสูงของอาคาร โดยผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์
ที่ประชุมเห็นชอบโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครราชสีมา เมืองเก่านครศรีธรรมราช และเมืองเก่าภูเก็ต โดยมอบหมายให้จังหวัดจัดทำข้อวิเคราะห์แผนแม่บทเมืองเก่าและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า เพื่อนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งให้จัดทำรายละเอียดประกอบแผนงาน เพื่อความครบถ้วนในขั้นตอนการนำไปปฏิบัติของหน่วยงานระดับพื้นที่ ที่มีความสอดคล้องกับเมืองเก่าแต่ละเมือง
พร้อมทั้ง มีมติเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ตามขอบเขตพื้นที่ตามที่ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับจังหวัด รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลก โดยประธานได้กำชับให้จังหวัดพิษณุโลกดำเนินการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลกมีส่วนร่วมในการบูรณาการในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดำรงคุณค่าสำคัญของประเทศและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนต่อไป