ซีพีเอฟ และ ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ร่วมแถลงการณ์สนับสนุน SeaBOS ต่อต้านแรงงานทาสยุคใหม่ เผยมีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหาร
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการต่อสู้กับแรงงานทาสยุคใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานของทั้งสอง บริษัทปราศจากแรงงานที่ผิดกฎหมาย ในการประชุมประจำปีของ SeaBOS ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อว่าแรงงานทาสยุคใหม่ เป็นความท้าทายที่ต้องร่วมมือกันขจัดให้หมดไป ในการทำงานระหว่างปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“เรามีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน อย่างมีนัยสำคัญในทุกเรื่องเช่น การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้เสีย การประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ เราพร้อมจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับประชาคมโลก และร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทาสยุคใหม่กลายเป็นปัญหาในอดีต”
การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการจ้างแรงงานและการจัดสวัสดิการ ทั้งยังให้การสนับสนุนศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Centre : FLEC) ซึ่งมีการจัดอบรมและกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานประมง ตลอดจนการยึดปฏิบัติตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท โดยกำหนดเป้าหมาย 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทที่นำมาใช้จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ(Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารย่อยสลายได้ (Compostable) ภายในปี 2568
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน มุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยมีวิธีในการดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และยังดำเนินการตรวจสอบคู่ค้าของเรา โดยหน่วยงานจากภายนอก
ดร. อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน จึงเป็นผลให้เกิดการพัฒนาด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ใบเหลืองได้ถูกยกเลิกเมื่อต้นปี 2562 แต่อย่างไรก็ดี ใบเหลืองได้ส่งผลให้ประเทศไทย มีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันมีการบังคับใช้อยู่ เพื่อลดการทำประมง IUU และการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย
SeaBOS เป็นองค์กรที่นำนักวิทยาศาสตร์จาก Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Royal Academy of Sciences) ของประเทศสวีเดน และบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 บริษัท SeaBOS มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีต่อการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร
การประชุมปีนี้ของ SeaBOS มีไทยยูเนี่ยน และซีพีเอฟ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่องานว่า Global Connectivity – Consolidating and Accelerating Change ผู้ร่วมประชุมตกลงที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงทางวิทยาศาสตร์และภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนยังตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงาน การปรับปรุงการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล และการทำงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนการจัดการการทำประมง
สมาชิกของ SeaBOS ทุกคนได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ ด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดการผลกระทบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมอาหารทะเล พร้อมกับการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารทะเลมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหาร