ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนตื่นตัวกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างมาก รวมไปถึงการรณรงค์และร่วมกันผลักดันการผลิตและใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้ร่วมมือกับ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมาย ให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่าห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก
“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเร่งสำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกของผู้บริโภคคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภค ที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล เก็บรวบรวม การผลิตและใช้ขวด rPET อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยที่ผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวด rPET ได้
การสำรวจพฤติกรรมดังกล่าว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้น คณะทำงานของ อย.จะมาพูดคุยกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร หากผลสำรวจออกมา ความเสี่ยงไม่ต่างจากยุโรปหรืออเมริกา ก็น่าจะได้เห็นความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี เพราะทุกคน ทุกภาคส่วน อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ และต้องการส่งเสริมเรื่องการรีไซเคิลอยู่แล้ว
นายจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ซันโทรี่และเป๊ปซี่โค บอกว่า ให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน โดยภายในปี 2025 เป๊ปซี่มีเป้าหมายในการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก PET ที่บริษัทเลือกใช้เป็นส่วนใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2012 ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ โดยสามารถนำมาแปรสภาพเป็นเส้นใยสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ผ้าบุตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ พรม แผ่นกรอง สายรัด และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET ในประเทศไทยสามารถจัดการได้ประมาณ 80% ของ PET ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 20% ต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลก หากมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังเพื่อสามารถนำกลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ จะสามารถลดปริมาณขยะที่ได้นำไปฝังกลบและเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อมได้มากขึ้น
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562