เอสซีจีขยายผล “บางซื่อโมเดล” สู่ชุมชนรอบโรงงาน เปิดตัวโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” สร้างเครือข่ายหมุนเวียนทรัพยากร หนุนระยองสู่เมืองไร้ขยะ
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ขยายผลความสำเร็จ “บางซื่อโมเดล” โครงการจัดการขยะภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ จับมือ “จังหวัดระยอง” เปิดตัว “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โมเดลการจัดการขยะในชุมชนที่เชื่อมต่อ “บ้าน–วัด–โรงเรียน–ธนาคารขยะ” มุ่งสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พร้อมยกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะ ด้วยแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ตั้งเป้าลดปริมาณขยะจากชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) และเพิ่มปริมาณขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินนโยบายทางธุรกิจ และการรณรงค์ในภาคส่วนต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนสมบูรณ์ คือ การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเอสซีจีได้ให้ความสำคัญและเริ่มต้นจากภายในองค์กร จากการดำเนินโครงการ “บางซื่อโมเดล” สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งบ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 20 ตันต่อเดือน เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละเดือน
โครงการ “บางซื่อโมเดล” มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานภายในเอสซีจี โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน และส่งเสริมพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม” “แยกให้เป็น” และ “ทิ้งให้ถูก” และ 2. การพัฒนาจัดระบบการคัดแยกขยะภายในสำนักงาน และระบบรับซื้อคืนเพื่อรีไซเคิล โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง และแยกตามประเภทวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะและสามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ง่ายขึ้น พร้อมกับนำระบบดิจิทัลเข้ามายกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะ โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เพื่อช่วยให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะ ทำงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
จากการดำเนินโครงการบางซื่อโมเดล เอสซีจีได้ถอดบทเรียนและนำไปขยายผลการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในรูปแบบต่างๆ เช่น ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบจนเป็นศูนย์ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ ปี 2562 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
สำหรับจังหวัดระยองซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องด้านการบริหารจัดการขยะ โดยกลุ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี นอกจากจะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโมเดลที่บ้านวังหว้า อ.แกลง แล้ว ล่าสุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังได้ร่วมกับจังหวัดระยอง เปิดตัวโมเดลการจัดการขยะภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดปริมาณการฝังกลบขยะและมีแนวทางการดำเนินโครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยลดการสร้างขยะ และเพิ่มการรีไซเคิล สอนการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งขยะให้ถูกต้อง ให้ชุมชนคัดแยกขยะเปียกและขยะที่รีไซเคิลได้ รวมทั้งไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
“จุดหลักของโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ คือ การสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชน LIKE (ไร้) ขยะที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งวัดและโรงเรียนถือเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน เราจึงสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้วัดและโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีเจ้าอาวาส พระสงฆ์ คุณครู นักเรียน และผู้นำชุมชน เป็นผู้นำทางความคิดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่อไปยังคนอื่น ๆ ในบ้านและชุมชนต่อไป” นายศักดิ์ชัยกล่าวเสริม
ปัจจุบัน “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ได้เริ่มนำร่องที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านโครงการ “บ-ว-ร” ได้แก่ บ้าน คือ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัด วัดโขดหิน และ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยมีธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ เป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกการรีไซเคิลของชุมชน โดยมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 6,500 กิโลกรัม และมีแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ที่พัฒนาโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลและเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจร โดยช่วยวางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง โดยประกอบด้วย 5 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่ 1. การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและคำนวณยอดเงินจากการซื้อขาย 2. การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มและสะสมคะแนน 3. การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย 4. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธการซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น 5. การจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ที่สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผลและดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel
ปี 2563 เอสซีจีมีแผนจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อีก 700 ครัวเรือนในชุมชนเดิม นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ชุมชนใหม่ ที่มีใจพร้อมจะเดินหน้าเป็น ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปเพื่อให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองไร้ขยะอย่างสมบูรณ์