จี้รับมือ1ล้านคนตกงาน เซ่นชัตดาวน์กทม.-ปริมณฑล

23 มี.ค. 2563 | 01:24 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2563 | 08:56 น.

“ธนิต” แจงปิดห้างพื้นที่เสี่ยง กทม.-ปริมณทล กระทบแรงงานนอกระบบตกงานทันที พ่วงกระทบถึงแรงงานต่อเนื่อง คาดมีถึง 1 ล้านคน ส่วนแรงงานในระบบไม่มีปัญหา

 


นายธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและให้เปิดร้านอาหารเฉพาะที่ขายเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านแบบ Take away เป็นเวลา 22 วัน นั้นคาดว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบจะมี 2 ส่วนคือแรงงานในระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่รับค่าจ้างเป็นรายเดือนกับแรงงานนอกระบบที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน 

จี้รับมือ1ล้านคนตกงาน เซ่นชัตดาวน์กทม.-ปริมณฑล

“แรงงานในระบบไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีระยะเวลาแน่นอนในการปิดบริการชั่วคราว ซึ่งมีกำหนดเปิดบริการอีกครั้งหลังวันที่ 12 เมษายน ตามประกาศของกรุงเทพมหานคร  แต่แรงงานนอกระบบที่จ่ายเป็นรายวัน รับเป็นเปอร์เซ็นต์การขายอันนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะกลุ่มนี้มีรายได้ไม่แน่นอนอยู่แล้วเมื่อปิดสถานบริการรายได้จะหายไปทันที  และยังมีกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากประกาศปิดสถานที่เสี่ยงของกทม.ฉบับที่ 1 ไปก่อนหน้านั้น  ซี่งไม่รวมแรงงานต่อเนื่อง เช่น แท็กซี่ และอื่น ๆ ที่ต้องขาดรายได้ตามไปด้วย ซึ่งรวมแล้วน่าจะมีถึง 1 ล้านคน ทั้งในกทม.และปริมณฑล” 

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้รัฐบาลต้องรีบหามาตรการมาช่วยแรงงานและผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมามาตรการต่าง ๆ ที่ครม.อนุมัตแล้วแต่ในทางปฏิบัติเงินยังไม่ถึงมือผู้ประกอบการ เนื่องจากติดปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการปิด จุดเสี่ยงตามประกาศของกทม.ฉบับที่1 และฉบับที่ 2 หากระงับการระบาดของโรคได้สถานการกลับมาเร็วแต่ก็คงยังไม่เหมือนเดิมต้องบวกเวลาอีกอย่างน้อย 3 เดือน แต่ถ้าสถานการเลวร้ายลงก็ไม่สามารถคาดการอะไรได้และอาจจะต่อมาตรการออกไปอีก นายธนิตกล่าว