ธ.ก.ส. วอนผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับสิทธิ์และแต่ยังไม่แจ้งเลขที่บัญชี อีกกว่า 400,000 ราย รีบเช็คข้อมูลและแจ้งเลขบัญชีผ่านเว็บไซต์ www. เยียวยาเกษตรกร.com โดยเร็ว เพื่อรับเงินโอนภายในพฤษภาคมนี้ แจงเป็นบัญชีธนาคารใดก็ได้ โดยไม่จําเป็นต้องไปเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. ดีที่สุดคือบัญชีที่ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน
นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท จ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากรัฐบาล ตามรายชื่อที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ส่งมาให้กับ ธ.ก.ส. ในกลุ่มที่ 1 ทั้งรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ยังไม่พบบัญชีที่จะรับโอนเงินจำนวน 438,251 ราย ทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถโอนเงินเยียวยาให้ได้
ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาทั้งในรอบที่ 1 จำนวน 109,600 ราย และรอบที่ 2 อีกจำนวน 328,651 ราย รีบแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากผ่านทาง เว็บไซต์ www. เยียวยาเกษตรกร .com โดยเร็ว ทั้งนี้ จะเป็นบัญชีธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. ซึ่งวิธีที่สะดวกรวดเร็วที่สุดคือควรเป็นบัญชีที่ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน
สำหรับข้อมูลเกษตรกรกลุ่มที่ 1 รอบที่ 2 ที่ ธ.ก.ส. ได้รับจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นจำนวน 3,519,434 ราย ซึ่งหลังจากได้ทำการตรวจสอบ ความซ้ำซ้อนและคัดกรองสถานะผู้เสียชีวิต เหลือผู้มีสิทธิจำนวน 3,410,314 ราย โดยจะดำเนินการจ่ายตั้งแต่บัดนี้ ถึง 29 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้ที่เว็บไซต์ข้างต้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้เกษตรกรกลุ่มที่ 1 ไปแล้ว 3,722,604 ราย เป็นเงิน 18,613.02 ล้านบาท
ด้านเกษตรกรกลุ่มที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและการขึ้นทะเบียนใหม่เพิ่มเติม เมื่อได้รับรายชื่อจาก กษ. และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว ธ.ก.ส. จะเร่งดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็วต่อไป
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการและสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 3.85 ล้ายราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท
2.มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ (เมษายน - มิถุนายน 2563) ทั้งในส่วนของเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทั้งประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 89,735 ราย มูลหนี้รวม 32,647 ล้านบาท
3.มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินลูกค้า SMEs แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่ 3.1 มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (เมษายน - กันยายน 2563) แบบอัตโนมัติทุกรายให้กับ SMEs ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท และในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back) ซึ่งมีลูกค้า SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 667,928 ราย มูลหนี้รวม 221,104 ล้านบาท 3.2 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs (Soft Loan ของ ธปท.) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 11,341 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,564.41 ล้านบาท
4.มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเมษายน 2563 - มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯ ให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3,348,378 ราย มูลหนี้รวม 1,265,492 ล้านบาท
5.มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละ ไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกนับจากวันกู้ ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อรับสินเชื่อแล้วจำนวน 2,082,967 ราย โดย ธ.ก.ส. ได้นัดหมายลูกค้ามาทำสัญญาและอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 201,573 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเปิดให้กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารคัดกรองแล้ว สามารถทำสัญญาอิเล็คทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมาติดต่อที่ ธ.ก.ส. สาขา โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563
6.มาตรการชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ "เราไม่ทิ้งกัน" ของกระทรวงการคลัง โดยจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้กำหนดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิ์จำนวน 5,630 ราย เพื่อทำหน้าที่สอบทานการประกอบอาชีพของผู้ขอทบทวนสิทธิ์ไปแล้วจำนวน 212,987 ราย จากทั้งหมด 218,621 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97.4
7.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรี รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้เกษตรกรไปแล้วจำนวน 4,722,198 ราย เป็นเงิน 23,610.98 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า ธ.ก.ส. ได้เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละ ไม่เกิน 50,000 บาท 2) สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3) สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.จะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ากลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1,000,000 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เยียวยาเกษตรกร" คลายทุกข้อสงสัย จะได้ไม่พลาดโอกาสรับเงิน 15000 บาท
"เยียวยาเกษตรกร" ใช้ บัญชีธนาคารใดก็ได้ รับโอนเงิน 15000 บาท