วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล (หมอบุ๋ม)ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด -19 (โคโรนา 2019) ในประเทศไทยวันนี้ ว่า มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 2 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 2,963 ราย หรือคิดเป็น 96.17 % ของผู้ป่วยทั้งหมด
มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 61 ราย หรือ 1.97 %ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ประเทศตุรกี 2 ราย ประเทศซาอุดิอาระเบีย 1 ราย และได้เข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,081 ราย
ด้านภาพรวมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนพบว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 53 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้จำนวน 44 ราย หรือคิดเป็น 83.2% มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียง 9 ราย หรือคิดเป็น 16.98 %(เกิดจากการเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับการติดตามตรวจ 6 ราย และผู้ที่รับเชื้อจากการไปในสถานที่ชุมชน 3 ราย) ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ
แพทย์หญิงพรรณประภา กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้มาจากความร่วมมือของสถานประกอบการและประชาชนที่ปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ทั้งมาตรการส่วนบุคคล เช่น การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า การล้างมือบ่อยๆ และมาตรการของสถานประกอบการ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ จัดจุดคัดกรองอุณหภูมิ จุดบริการแอลกอฮอล์เจลล้างมือ การลงทะเบียนเข้า-ออก พื้นที่ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ เป็นต้น
ขณะนี้ยังมีคนไทยในต่างประเทศทยอยเดินทางกลับประเทศจะมีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง หากพบว่าป่วย มีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรืออาการระบบทางเดินหายใจ ไม่อนุญาตให้เดินทางกลับ ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งสายการบินได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อบนเครื่องโดยให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เมื่อเดินทางถึงประเทศจะมีการคัดกรองอีกครั้ง หากพบอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค(PUI) จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาทันที
สำหรับผู้โดยสารที่ไม่แสดงอาการป่วยจะนำเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคเป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้ หรือในโรงแรมทางเลือก (Alternative State Quarantine) ซึ่งมีระบบการดูแลสุขภาพ ภายใต้การควบคุมของบุคลากรทางการแพทย์เช่นเดียวกัน
แพทย์หญิงพรรณประภา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก คำขวัญประจำปี 2563 มีว่า “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” #เลิกสูบลดเสี่ยง ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะขณะสูบจะมีการปล่อยควัน ละอองไออกมา อาจมีน้ำลาย สารคัดหลั่ง และเชื้อโรคปะปนอยู่ และอาจแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
"ข้อมูลของ ขององค์การอนามัยโลก ในการการบังคับใช้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO FCTC) ได้กล่าวถึงการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อโรคโควิด -19 ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่าคนปกติทั่วไปและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า "