วันที่ 6 มิถุนายน 2563 แฟนเพจ "องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)" ออกแถลงการณ์เรื่อง กรณีอุ้มหาย “นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” โดยมีเนื้อหาดังนี้
จากกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกรณีการอนุมัติหมายจับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 โดยศาลทหาร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏว่า บนโลกโซเชียลได้มีการติด #Saveวันเฉลิม จนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงเป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็วนั้น
ต่อประเด็นข้างต้น ได้มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ที่ได้ให้ความหมายของการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ “การอุ้มหาย” ว่าหมายถึง “การจับกุม การคุมขัง การลักพาตัว หรือ การลิดรอนเสรีภาพรูปแบบอื่น ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการภายใต้อำนาจหรือการสนับสนุนหรือการยอมรับจากรัฐ ตามด้วยการปฏิเสธไม่รับรู้การลิดรอนเสรีภาพดังกล่าว หรือโดยการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหาย ทำให้ผู้สูญหายอยู่นอกการคุ้มกันของกฎหมาย”
อนึ่ง แม้ไทยจะมิได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี แต่ก็ได้มีการลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวไปแล้วมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 อันถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง ตลอดจนใส่ใจต่อปัญหาการอุ้มหาย อีกทั้งตามกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ ได้แก่ มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อ 3 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) นั้น ต่างก็ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่กำเนิด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตร.ยังไม่ได้รับรายงาน 'วันเฉลิม' ถูกอุ้มในกัมพูชา
หมอวรงค์ จวก ธนาธร โยง "วันเฉลิม" เทียบจอร์จ ฟลอยด์" ผิดเพี้ยน
กล่าวคือ “สิทธิในชีวิต” ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดสิทธิทั้งปวง และเป็นสิ่งที่รัฐไม่อาจปฏิเสธถึงความมีอยู่ของสิทธิดังกล่าวได้ จึงทำให้รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากการละเมิดของบุคคลอื่น โดยเฉพาะหากการละเมิดนั้นตั้งอยู่บนความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนว่าเป็นการกระทำของรัฐแล้ว รัฐยิ่งจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำไปสู่กระบวนการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จึงขอประณามกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว
อบจ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่าทีของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิต และสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประชาชน อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลต่อไป