ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล ระบุว่า
รัฐบาลทำดีพอแล้วหรือยัง?
วางแนวทางได้ครอบคลุมดีสำหรับมติ ครม. เรื่องป้องกันคอร์รัปชันเงินสี่แสนล้าน แต่ประสบการณ์สอนว่า
หลายครั้งเมื่อ “รัฐบาลมีนโยบายหรือประกาศความตั้งใจ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีใครใส่ใจ” หากไม่ติดตาม ไม่ทำเป็นแบบอย่าง หรือไม่กำหนดข้อปฏิบัติให้ชัดลงไปว่า ใครต้องทำอะไร อย่างไร
ดังนั้นเพื่อควบคุมให้การใช้เงินครั้งนี้โปร่งใส ผมรวบรวมข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพิ่มเติมสำหรับ 4 แนวทางที่รัฐบาลประกาศมา
ประการแรก “การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส” หัวใจคือ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส
1) สร้าง “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” ที่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนรู้เห็นว่า ในตำบลของตนมีโครงการอะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ มีการจ้างงานที่ไหน บ่อเก็บน้ำที่ขุดหรือศาลาที่สร้างตั้งอยู่ในที่ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ มีอะไรซ้ำซ้อนไหม โครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาการเกษตรมีอะไรบ้าง เป็นต้น
ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้ทุกคนใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์เปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีรหัสผ่านหรือกรอกข้อมูลบัตรประชาชน โดยในเว็ปไซต์ต้องมีช่องทางร้องเรียนไว้ด้วย
มีข้อสังเกตว่า ใน มติ ครม. ใช้คำว่าให้ทุกหน่วยงาน “เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด” ดังนั้น จึงไม่ควรมีการปกปิดข้อมูลใดโดยอ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น ความลับทางการค้า ความลับราชการ สิทธิส่วนบุคคล หรือมีระเบียบให้เปิดได้แค่นี้ เป็นต้น
ในทางกลับกันคือ ประชาชนสามารถขอดูเอกสารทุกอย่างได้
เมื่อทำไว้ดีแล้ว ใครจะตรวจสอบอะไรก็ง่ายได้ ตรวจสอบย้อนหลังได้
2) จัดรณรงค์สร้างการรับรู้และเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบ โดยอาจรวมตัวเป็นเครือข่ายลักษณะเดียวกับ อสม. ก็จะเป็นประโยชน์มาก ทำให้ต่อเนื่องจะกระตุ้นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการฟื้นฟูประเทศครั้งสำคัญนี้
3) มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เพื่อความมั่นใจว่าการใช้เงินตรงมาตรงมาตามวัตถุประสงค์ ไม่มีใครเกรงใจใคร
4) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินที่เป็นอิสระ ที่มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ โดยทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สตง.
ประการที่สอง “ตรวจสอบเข้มงวด ลงโทษรุนแรง”
1) โครงการที่อนุมัติแล้ว ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโดยบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ประสบการณ์ เพื่อคัดแยกและตั้งประเด็นว่าโครงการใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดคอร์รัปชัน ในขั้นตอนใด
2) หน่วยตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ท. ควรกำหนดมาตรการเชิงรุก นอกเหนือไปจากมาตรการปรกติที่มีอยู่ หรือที่ ศอตช.กำหนด
3) จ้างบัณฑิตจบใหม่หรือคนตกงานให้ทำหน้าที่ “ติดตามตรวจสอบ” โครงการในแต่ละตำบล
4) หากมีการยกเว้น ผ่อนผันกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ ต้องกำหนดขอบเขต ขั้นตอน ให้ชัดเจน
ประการที่สาม “การปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียน”
ทุกเบาะแสและข้อร้องเรียนต้องตอบสนองอย่างน้อยสองทางพร้อมกัน ทางหนึ่งให้ สตง. ตรวจสอบเพื่อความรวดเร็วและหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทางหนึ่ง ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบดำเนินคดี สำหรับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ควรเน้นตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องร้องเรียนคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือมีข่าวการแทรกแซง
การใช้งบประมาณสี่แสนล้านบาทนี้ต้องเร็วและกระจายทั่วถึง การที่รัฐบาลกำหนดให้ ศอตช. เป็นหน่วยประสานงานและข้อมูลเรื่องร้องเรียน ทำให้เชื่อว่าได้จะเกิดความคล่องตัวและรอบด้านยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ ควบคุมและลงโทษคนผิด ด้วยมาตรการทาง “อาญา ปกครองและวินัย”
ปรกติเมื่อมีเหตุร้องเรียน หน่วยงานต้นเรื่องมักรอให้ ปปช. หรือ สตง. สรุปผลการสอบสวนก่อน ทำให้คดีล่าช้ามาก เกิดความเสียหาย สร้างความเดือดร้อน ผู้คนไม่พอใจ คนโกงยิ่งได้ใจ
ดังนั้นการนำ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาใช้ จึงเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะทำให้หัวหน้าหน่วยงานต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของตน ขณะที่การลงโทษทางปกครองและวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถทำได้รวดเร็ว ทำให้คนเกรงกลัวและหยุดยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที
อ่านข้อมูลทั้งหมดแล้วคุณคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมา ดีพอหรือยังครับ