สพฐ. เดินหน้ารื้อหลักสูตร ตั้งเป้า “ครูต้องรู้ดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ”

16 ก.ค. 2563 | 12:10 น.

เลขาสพฐ. เผยก้าวสู่ปีที่ 18 ชู "การศึกษายุคดิจิทัล" ผลักดันครูและผู้บริหารมีความรู้ดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ สร้างโอกาสให้เด็กอย่างเท่าเทียม

วันที่ 16 ก.ค. 63 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงวันคล้ายวันสถาปนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก้าวสู่ปีที่ 18 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ปีนี้เป็นปีที่ สพฐ. ก้าวสู่ปีที่ 18 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จึงทำให้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมวันครบรอบขึ้น

 

ซึ่งการก้าวสู่ปีที่18 ของ สพฐ.นั้น ต้องยอมรับว่าบุคลากรครูและนักเรียนกำลังอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนผ่าน เพื่อเข้าสู่การปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัล โดยการศึกษาทุกวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้เด็กไทยมีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันเท่าที่ควร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศธ.ผ่อนปรนจัด"ประชุม-อบรม-สัมมนา"ได้ตามปกติแล้ว

คุมเข้มสอบ "ครูผู้ช่วย" กระทรวงศึกษาฯ สั่งห้ามมีการทุจริต 

สพฐ.โชว์ผลงานแก้เหลื่อมล้ำ ช่วยนักเรียนได้ 5 แสนคน

 

"ดังนั้นการศึกษาในยุคนี้เราต้องหาจุดที่จะพัฒนาเด็กไทยให้ไปสู่โลกดิจิทัล หรือ การศึกษาศตวรรษที่ 21ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งขอให้นักเรียนและครูทุกคนได้ปรับตัวกับการใช้หลักสูตรใหม่ เพราะหลักสูตรฐานสมรรถนะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ค้นพบศักยภาพของเด็กไทยมากขึ้น"

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ครูจะต้องมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ ซึ่งครูจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและภาษาอังกฤษ เนื่องจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูและผู้บริหารในเรื่องเทคโนโลยีและภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก รวมถึง สพฐ. จะต้องพัฒนาครูในประเด็นนี้ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ อย่างก้าวกระโดด ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อความเป็นเลิศระดับเขตพื้นที่ขึ้น โดยศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ทดสอบและอบรมครูให้สอดรับกับความรู้ยุคดิจิทัล เช่น ภาษาอังกฤษ และเรื่องเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในอนาคต

"สพฐ. มีบุคลากรครู ผู้บริหาร และลูกจ้างรวมกว่า 500,000 คน ซึ่งทุกคนอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันภายใต้บ้านหลังนี้ จนทำให้งานของ สพฐ. มีการขับเคลื่อนอย่างก้าวกระโดด และนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากขณะนี้สังคมคาดหวังในการทำงานของเราอย่างมาก ดังนั้นขอให้บุคลากร สพฐ. ทุกคนจงมุ่งมั่นสร้างบ้านหลังนี้ให้มีความแข็งแรงต่อไปด้วยมิติใหม่การศึกษายุคดิจิทัล สู่ปีที่18 เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอย่างเท่าเทียม" ดร.อำนาจ กล่าว