ข้อมูลจากแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบในปี 2567 มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยอุปทานพื้นที่ค้าปลีกสะสม ณ สิ้นปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9.06 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 163,028 ตารางเมตร หรือ 1.83% จากปีก่อนหน้า
โดยมีพื้นที่ใช้งานไปแล้วกว่า 7.64 ล้านตารางเมตร คิดเป็น 84.35% ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 269,458 ตารางเมตร และอีก 157,000 ตารางเมตรในปี 2569
การขยายตัวของอุปทานพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่เกิดจากโครงการ Mixed-Use ขนาดใหญ่ การรีโนเวทพื้นที่เดิม และการเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ๆ ในพื้นที่ใจกลางเมืองและรอบนอก ความต้องการเช่าพื้นที่ยังคงสูง โดยเฉพาะจากแบรนด์ต่างชาติและธุรกิจกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้อัตราการเช่าเฉลี่ยของตลาดปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกทำให้ผู้พัฒนาจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่าผู้พัฒนาหลายรายได้ปรับปรุงพื้นที่เช่าให้มีความทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคชีวิตวิถีใหม่
การปรับตัวไม่เพียงแค่ในแง่ของพื้นที่เช่าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจสู่ระบบออมนิชาแนล (Omni Channel) การพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงโลกเสมือนจริงและโลกปัจจุบันให้เป็นหนึ่งเดียว
อีกทั้ง ผู้บริโภคยุคใหม่ยังให้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย ส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่ค้าปลีกต้องมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อสินค้าหรือบริการที่สร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัย
ซึ่งในปี 2568 ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบคาดว่าจะยังคงเติบโต โดยมีอุปทานใหม่ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดจากโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและการรีโนเวทเพิ่มเติม การปรับตัวของผู้พัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสำเร็จในตลาดที่แข่งขันดุเดือด