นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวการปาฐกฐาพิเศษ ในเวที เสวนาระดับชาติ " รีสตารท์ ไทยแลนด์ " พลังชุมชน ขับเคลื่อนประเทศไทย โครงการสัมมนาระดับชาติ พลังชุมชน พลิกฟื้นฐานรากเศรษฐกิจไทย ยุค Post Covid-19 โดยนำเสนอไอเดียใน 9 ประเด็น ฝ่าวิกฤต โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้แก่
1.ภาคบริการไทยมีประสบการณ์ที่สร้างขึ้นและถ่ายทอดต่อ ให้คนไทยจำนวนหลายล้านคน(ที่กำลังว่างงานชั่วคราว)และกลับถึงภูมิลำเนา นี่จึงสร้างโอกาสให้ท้องถิ่นและฐานชีวิตเดิมของคนหลายล้านที่จะได้ใช้ทักษะบางอย่างที่เคยถูกดึงดูดไปสู่สังคมเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 50ปี จากถิ่นต่างๆให้ได้กลับมาร่วมดำรงอยู่กับชาวชุมชนอีกครั้งหนึ่ง
2.พลังคนไทย จาก ไทยเที่ยวไทย กำลังจะทยอยออกเยี่ยมเยือนในพื้นที่ใกล้บ้าน เพราะต่างสนใจการเดินทางระยะทางสั้นๆ นี่จึงเป็นโอกาสของท้องถิ่นไทยที่จะต้อนรับแขกใกล้บ้านที่กำลังทยอยมาเรียนรู้และร่วมประสบการณ์ ซึ่งในหลายกรณี สิ่งนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินที่นำมาจับจ่ายในชุมชน เพราะที่ผ่านๆมา คนจำนวนมากไม่ได้สัมผัสชุมชนและท้องถิ่นใกล้ตัว ความรู้สึกว่าต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น
3.แขกที่มาเยือนอาจเป็นคนจากหมู่บ้านตำบลใกล้เคียงนี่เอง ไม่จำเป็นต้องหมายถึงคนมีกำลังซื้อสูงจากเมืองใหญ่เท่านั้น ในขณะเดียวกัน คนไทยที่เคยเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อยอีก10ล้านคน ก็จะเติมเข้ามาในไทยเที่ยวไทยด้วย ไทยเที่ยวไทย ในปีปกติมีจำนวนถึง170ล้านคนครั้งต่อปี กระจายรายได้ถึงเกิน1ล้านล้านบาทเสมอ แม้ปีโควิดจะทำให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างระวังขึ้น สมมุติว่าเหลือเพียง40% ก็ยังต้องถือว่ามีปริมาณที่ใหญ่เท่าๆกับเงินกู้ยืมตามพระราชกำหนดที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมมาใช้จ่ายในฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น คือ 4แสนล้านบาท
4.ชุมชน แต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องแข่งด้วยกลไกราคา แต่สามารถใช้อัตลักษณ์ถิ่นในการส่งมอบประสบการณ์ที่ใช้ต้นทุนไม่สูง แต่ใช้ภูมิปัญญาที่เคยสะสมมาให้เกิดความน่าสนใจ น่าประทับใจ และก่อความผูกพันระหว่างคนสังคมเมืองกับสังคมนอกเขตเมือง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วีระศักดิ์"แนะรัฐจ้างงานท่องเที่ยวช่วยธุรกิจ
วีระศักดิ์ แนะ 8 ข้อดันงบ4แสนล.ถึงชุมชนรากหญ้า
“วีระศักดิ์”แนะ3แนวทาง รับมือคนไทยกลับปท.
วีระศักดิ์ แนะ 2 แนวทาง ใช้วิกฤติโคโรนาเป็นโอกาส
‘วีระศักดิ์’ฝากรัฐบาลใหม่ กระจายพื้นที่ท่องเที่ยว
5.ตลาดผู้บริโภคกำลังใส่ใจต่อสุขภาวะที่ดี จากความตื่นตัวต่อการระบาดของโควิด19 นี่จึงเป็นโอกาสที่เยี่ยมยอดที่จะทำให้กระบวนการคิด การผลิต การส่งมอบต่างๆจากชุมชน เป็นไปด้วยความเข้าใจต่อเรื่องสุขภาวะ และการอยู่ร่วมกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
แต่ชุมชนมักมีประสบการณ์ของการได้อาศัยกันและกัน ใช้น้ำใจ และความละเมียดละไมพึ่งพากัน สิ่งที่จะต่อยอดเติมได้อีกก็คือใช้ความรู้พื้นฐานใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ มาใช้ในการดูแลกัน มาเป็นเครื่องมือรักษาดูแลกันและกัน แทนการต่างคนต่างสั่งสมความมั่งคั่ง ซึ่งย่อมส่งผลให้มีแต่การแก่งแย่งและไม่ยั่งยืนในแทบทุกกิจกรรม โดยเฉพาะในสังคมเมืองขยาย
6.การใช้ประโยชน์จากศิลปวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา อาหาร ในบรรยากาศของท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจที่มีฐาน มีราก มีรสนิยม มีเป้าหมายที่อบอุ่น และลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อทุกชีวิต และบัดนี้โลกได้เรียนรู้แล้วว่ามลภาวะที่มนุษย์ก่อเพราะเห็นว่าราคาถูกนั้น ทำให้การเก็บกวาดคืนสู่สภาพที่เอื้อต่อการธำรงอยู่ได้อย่างมีสมดุลย์ก็มีราคาแพงมาก
ดังนั้นการเปลี่ยนเป้าประสงค์ในกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เปลี่ยนวิธีจัดการ และจะนำมาซึ่งผลลัพท์ที่ยั่งยืนขึ้น พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และก่อความสามัคคีในกลุ่มดีขึ้น อันจะช่วยให้เราพร้อมรับแรงกระแทกจากภัยภายนอกระลอกถัดไปได้ดีกว่าเดิมแน่นอน
7. สินเชื่อ เป็นเรื่องจำเป็นมากในยุคโควิด19 แต่การให้สินเชื่อควรต้องใช้ "ความเชื่อ" ก่อน ว่าหลังโควิดผ่านไปแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจใดที่จะคืนกลับหรือจะก้าวหน้ารุ่งเรือง สินเชื่อที่ไม่ยังเคลื่อนถึงมือผู้ต้องเข้าถึงเวลานี้ ส่วนมากมาจากความสนใจที่คำว่า"สิน"มากกว่าคำว่า"เชื่อ "
โควิด19มาโดยไม่มีใครคาดได้มาก่อน การเล็งกันที่"สิน" จึงไม่ค่อยมีใครผ่านด่านสินเชื่อได้ เว้นแต่คนที่มีทรัพย์มาประกัน จึงทำให้พลังการผลิตทางเศรษฐกิจและการรักษาแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากต้องตกหล่นและทำให้ศักยภาพในการฟื้นคืนก็ต้องละลายไปอย่างน่าเสียดาย
สินเชื่อจึงควรถูกหยิบยื่นให้ด้วยเงื่อนไขของการกำหนดให้ผู้รับสินเชื่อต้องเพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะการจัดการ เพิ่มความสามารถด้านภาษาและไอที เพิ่มความสามารถในการรองรับความเฉพาะด้าน หรือ niche market สามารถเพิ่มมาตรฐาน ที่คนทั้งมวล เช่นผู้สูงวัย ผู้หญิง เด็ก และคนพิการ เข้าถึงง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น มากกว่าจะมองแค่ว่าสามารถหารายรับมาชำระดอกเบี้ยได้ในรอบงวดไหน
8.ไทยเที่ยวไทย จะช่วยสร้างโอกาสการเรียนรู้มากกว่าการได้เห็นวิว และบรรยากาศ แต่จะเปิดช่องให้ผู้บริโภคและเรียนรู้รับประสบการณ์ตรงจากคนปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เมื่อไปผ่านการท่องเที่ยวชุมชน ในทางกลับกัน คนปลูกคนเลี้ยงก็ได้สัมผัสข้อคิดและเงื่อนไขของผู้บริโภค โดยตรง ดังนั้นตัวกลางที่เคยได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในฐานะตัวกลางก็ได้จะถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ทางตรงของตลาดกับผู้ผลิตมากขึ้น
นี่จะช่วยสร้างพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของประชาคมสองกลุ่มที่ใหญ่มาก อันจะนำมาซึ่งความเป็นอิสระมากขึ้นต่ออิทธิพลของผู้ค้าคนกลางและพลังการทำตลาดของนักโฆษณา
9.ในโอกาสที่โควิด19ทำให้พลังงานไฟฟ้าสำรองของไทยมีล้นเกินความต้องการเกือบ40%ของกำลังการผลิต การนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินนี้ออกมาทำโครงการระยะสั้นไ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่จะก่อสาธารณประโยชน์ก็จะเป็นกุศโลบายที่ดีเยี่ยมในการสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ พื้นที่เศรษฐกิจและสังคมใหม่ให้ชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ ในเวลาใหม่ๆ
เช่น การทำไฟฟ้าส่องสว่างลานกิจกรรม ลานออกกำลังกาย ลานกีฬา ในยามหัวค่ำ เช่นวันละสามชั่วโมง แดดของไทยแรงและเวลาของคนส่วนใหญ่ก็ถูกขังไว้ในสถานที่เรียนและที่ทำงานในภาคกลางวัน ครั้นพอมาถึงลานกิจกรรมจริงก็จะได้เพียงแสงส่องทางเล็กๆน้อยๆ แต่ใช้ทำกิจกรรมใหม่ๆที่มีชีวิตชีวาไม่ได้
ดังนั้นเวลาในที่โล่งแจ้งพร้อมแสงสว่างของกิจกรรมครอบครัว กิจกรรมชุมชน ใกล้บ้านจึงสามารถช่วยสร้างทั้งสังคมที่ไม่ต้องเอาแต่ก้มหน้าหาสุขส่วนตนอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสุขจากการรู้และร่วมมีกันและกัน