วันนี้(14 ก.ย.63) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อม ด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม" พร้อมแถลงนโยบายการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยมี นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายอนุทิน กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม อีกทั้ง ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา การมีอาชีพมีรายได้ เกิดปัญหาการทอดทิ้งเด็ก และความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงความเสี่ยงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ดำเนินการช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองสิทธิวัยรุ่น อาทิ การให้คำปรึกษา, การมีระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์, การดูแลหลังคลอด, การส่งเวชภัณฑ์คุมกำเนิดไปยังสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน, จัดตั้งศูนย์ประสานการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่น ระดับจังหวัด เป็นต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์ลดลงตามลำดับ
ในขณะเดียวกันก็ยังพบเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา หรืออาจไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้มีพัฒนาการเติบโตตามวัย จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกลไกการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม เป็นรูปธรรม และมีความเป็นเอกภาพ
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนในทุกสถานศึกษา โดยจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย พร้อมให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ได้ศึกษาต่อในสถานศึกษาตามเดิม รวมทั้งปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสม ตลอดจนนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้ คืออนาคตของประเทศ
นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในส่วนของ พม. ได้จัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อาทิ การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแกนนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมประสานงานเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว
ตลอดจนจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด เพื่อให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสม รวมถึงจัดหาครอบครัวทดแทน กรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ด้วยตนเอง ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น