ผลกระทบโควิด-19มีแรงงานคืนถิ่นอีสานถึง 800,000คน จำนวนไม่น้อยไม่อาจกลับสู่ตำแหน่งงานเดิมได้อีก เป็นภาระที่ภาคเกษตรต้องแบกรับ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะใช้ประสบการณ์ ทักษะชีวิตและวิชาชีพแรงงานคืนถิ่น ขับเคลื่อนภาคเกษตรสู่วิถีใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เศรษฐกิจไทยปีนี้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะติดลบ 8% แต่ผลกระทบจากโควิดขณะนี้ หากเทียบกับวิกฤติในอดีตต่างกันมาก เพราะตอนนี้กระทบตรงกล่องดวงใจคือภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานถึง 20% ทำให้ดูว่าปัญหากระทบหนัก แถมโดนซํ้าด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูงก่อนโควิด วันนี้สูงไปอีกที่ 84% จาก 80%ก่อนหน้า
แม้ตอนนี้ผู้ตกงานจะอยู่ที่ระดับ 700,000-800,000 คน แต่ตัวเลขนี้ไม่สะท้อนข้อมูลที่แท้จริง เพราะมีคนที่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกถึง 2,000,000 คน หากรวม 2 จำนวนนี้เข้าไป กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีถึง 3,000,000 คน เป็นผลกระทบในวงกว้างภายใต้ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
รายงานการวิจัยธปท. เรื่อง “โควิดทุเลา แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋” ในชุด “แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค” ขยายภาพปัญหาแรงงานให้ชัดยิ่งขึ้นว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8,400,000 คน ในกลุ่มธุรกิจภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง
รวมเด็กจบใหม่กว่า 500,000 คนหางานยาก สมทบกับแรงงานกลับจากต่างประเทศกลับมาตุภูมิด้วย คนกลุ่มนี้กว่า 40 % เป็นแรงงานอีสาน
วิกฤติครั้งนี้สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ในช่วงประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์สู้เชื้อโควิด-19 มีแรงงานอีสานที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับคืนถิ่นราว 800,000 คน เฉพาะจังหวัดอุดรธานีมีแรงงานคืนถิ่นถึง 200,000 คน
คลื่นแรงงานคืนถิ่นเหล่านี้ เป็นอีกครั้งที่ภาคเกษตร อันเป็นรากเหง้าของกลุ่มกำลังแรงงานเหล่านี้ ต้องช่วยกับแบกรับประคับประคองให้อยู่รอด บางส่วนรอตำแหน่งงานที่จะเปิดรับอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจฟื้น แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้อีกแล้ว และตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดด้วยการทำ “การเกษตร”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชน‘อุดรฯ’เร่ง ปรับโครงสร้าง รองรับแรงงานคืนถิ่น2แสนราย
เปิด 4 แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
แต่ในมุมกลับ แรงงานคืนถิ่นที่กลับบ้านพร้อมทักษะชีวิตและวิชาชีพจากงานเดิม ก็เป็นโอกาสในการเติมเต็มและยกระดับภาคเกษตร ที่กำลังแรงงานวัยหนุ่มสาวทอดทิ้งมาหาโอกาสที่มากกว่าในเมือง เหลือไว้แต่คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่า และลูกหลานอยู่ทำไร่ทำนาในวิถีดั้งเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรในอีสาน มีศักยภาพเกื้อหนุนให้เป็น“ทางเลือก” เพื่อเป็นทางรอดของแรงงานคืนถิ่น จากที่ภาคเกษตรอีสานเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต โดยมุ่งสู่การเกษตรปลอดภัย รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีขนาดพื้นที่การเกษตรมากสุด อยู่ในภูมิประเทศที่มีปริมาณนํ้าฝนมากกว่าทุกภาค ได้รับแสงแดดดีทั้งปี ตั้งอยู่ในแนวเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านทั้งอาเซียนและจีน ที่จะได้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่จะแล้วเสร็จปลายปีหน้า
แรงงานคืนถิ่นยังเป็นโอกาสอันดีของภาคเกษตร ที่จะได้แรงงานคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและภาคเกษตรหลังโควิดคลี่คลาย เนื่องจากมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ขณะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนทักษะและกำลังแรงงานผู้สูงอายุ สถาบันครอบครัวเข้มแข็งขึ้น
โดยแรงงานอีสานทั้งหมดกว่า 9,300,000 คน เกือบครึ่งอยู่นอกภาคเกษตร ในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพที่เปราะบางต่อการโดนเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน ถึง 2,400,000 คน โดยอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี 45 % และน้อยกว่า 40 ปี ถึง46.5%5 แสดงว่า ยังมีแรงงานหนุ่มสาวที่พร้อมทำงานอยู่ไม่น้อย
เมื่อผนวกกับแรงงานคืนถิ่นบางส่วนที่ตัดสินใจพลิกชีวิตด้วยการทำเกษตรในวันนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่รัฐน่าจะลองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสนับสนุน ให้แรงงานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเกษตร
ในด้านการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น กระทรวงเกษตรฯ ให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม Agritech and Innovation Center : AIC ระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ส่วนการดูและขับเคลื่อนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบนั้น กระทรวงมหาดไทยสั่งจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดทุกจังหวัด ขึ้นมารองรับ
นอกจากนี้ภาคเอกชน อาทิ หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ก็กระตุ้นองค์กรสมาชิก ให้ปรับโครงสร้างผู้ประกอบการให้เป็นมินิ หรือสมาร์ทสถานประกอบการ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าร่วม เพื่อให้สามารถรองรับกำลังแรงงานเหล่านี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร รวมไปถึงในภาคการเกษตร เพื่อให้แรงงานคืนถิ่นกลับมาปักหลักภูมิลำเนาในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ แรงงานคืนถิ่นจะเริ่มต้นในภาคเกษตรให้อยู่รอดและเติบโตยั่งยืนได้นั้น ปัจจัยเบื้องต้นเพื่อการเริ่มต้นที่ต้องมีอย่างน้อย 3 ประการคือ 1.มีตลาดรองรับ 2.มีองค์ความรู้ สำหรับผู้ที่ไม่มี หรือไม่เหลือทักษะการทำเกษตรสมัยใหม่ และ 3. นํ้า ปัจจัยหลักการทำเกษตร ซึ่งต้องจัดให้มีแหล่งนํ้าถึงระดับไร่นา
เพื่อพลิกวิกฤตแรงงานคืนถิ่น เป็นโอกาสของภาคเกษตรอีสาน...
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563