วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ยกระดับความเข้มงวดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพิ่มความเข้มข้นการตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายทั้งรถขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ เริ่มตั้งจุดตรวจสอบจับหน้าสวนจตุจักร กทม. โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) พร้อมผู้แทนกรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติงาน
นายธีรภัทร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองรัฐบาลให้ความสำคัญยกเป็นวาระแห่งชาติ และตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ยกระดับความเข้มงวดของมาตรการโดยเพิ่มเติมแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตและประสานการทำงานร่วมกันผ่านศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นไม่ให้กระทบสุขภาพประชาชน เพิ่มความเข้มข้นการตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายทั้งรถขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ การควบคุมการก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างรถโครงการไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการควบคุมอย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพล กล่าวว่า การตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะดำเนินการร่วมกันระหว่าง กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร และ คพ. โดย คพ. จะร่วมกับชุดตรวจการกรมการขนส่งทางบกจำนวน 14 ชุด ตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำริมเส้นทางจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 – เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การขับขี่รถควันดำเกินมาตรฐานเป็นความผิดอาญา ปรับสูงสุด 1,000 บาทสำหรับรถเล็ก ปรับสูงสุด 50,000 บาทสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ และห้ามใช้รถจนกว่าจะปรับเครื่องยนต์ให้มีควันดำเป็นไปตามมาตรฐาน
“สำหรับตรวจสอบตรวจจับในวันนี้ เรียกรถตรวจสอบรวมจำนวน 94 คัน เป็นรถกระบะปิกอัพ 49 คัน พบควันดำสูงเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด (สูงเกินกว่า ร้อยละ 45) จำนวน 8 คัน จึงออกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว และต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน ส่วนรถโดยสาร 39 คัน และรถบรรทุก 6 คัน ควันดำมีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ประชาชนพบเห็นรถยนต์ควันดำสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1356 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1555 ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร และ สายด่วน 1650 กรมควบคุมมลพิษ” นายอรรถพล กล่าว