กรุงเทพมหานคร สั่งการ สำนักเขต-เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม เทศกิจทั้ง 50 เขต รวมไปถึงจับมือกับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมควบคุมมลพิษ สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย โดยได้บูรณาการร่วมกันในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
ทั้งนี้แผนขับเคลื่อนที่จะนำมาสกัดฝุ่นละออง PM2.5 มีดังต่อไปนี้
-ตรวจสถานประกอบการไม่ให้ประกอบกิจการปล่อยควันเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
-กำชับไซต์งานก่อสร้างให้ล้างล้อรถทุกคันก่อนออกจากไซต์งาน
-ประชาสัมพันธ์มิให้มีการจอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า
-เพิ่มความเข้มงวดตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท
-แนะนำการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้กับผู้ขับขี่รถยนต์
-ประสานสถานีตำรวจท้องที่เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรหรือจัดการจราจรให้คล่องตัวลดการสะสมฝุ่นละอองจากควันรถยนต์
-เพิ่มความถี่ในการล้าง ดูดฝุ่นถนน และฉีดล้างใบไม้
-จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อให้บริการตรวจรักษา ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
-จัดเตรียมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันและให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ประชาชน
-จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หากพบฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันมากกว่า 3 วัน
- สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน (วันจันทร์-วันอังคาร เวลา 13.00 – 15.30 น.) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.30 น.) และโรงพยาบาลกลาง (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.)
-ให้บริการ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบปัญหาและให้คำปรึกษาเรื่องโรคที่มีสาเหตุจากฝุ่นละออง
-กรณีต้องการปรึกษาแพทย์จะประสานต่อสายผ่านไปยังศูนย์ BFC : Bangkok Fast & Clear ศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนัดพบแพทย์ต่อไป