24 ธันวาคม 2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า
โควิด-19 ปัญหาการระบาดใหญ่
โดยทั่วไป โรคที่รุนแรงมากจะไม่ระบาดใหญ่ หรือกว้าง เช่น อีโบลา เสียชีวิตกว่าครึ่ง ผู้ป่วยมีอาการมาก ไม่สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปได้ไกล โอกาสจะขึ้นเครื่องบินไปไกล หรือการควบคุมโรคจะง่าย
โรคที่มีความรุนแรงน้อย และมีผู้ที่มีอาการน้อย ไม่มีอาการ จะแพร่ระบาดไปได้ไกล และยากต่อการควบคุม เช่นไข้หวัดใหญ่
โควิด-19 จะพบว่ามีถึงร้อยละ 80 มีอาการน้อย หรือ ไม่มีอาการ มีอาการมาก ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ประมาณ 20% และขั้นวิกฤต 3-5%
การที่มีผู้ป่วยอาการน้อย ไม่มีอาการ จำนวนมาก โดยเฉพาะในวัยแรงงาน ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เกิดขึ้นได้ เพราะกว่าจะรู้ว่ามีผู้ป่วย แสดงว่ามีผู้ที่ไม่มีอาการติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก และมีการเดินทางไปที่อื่นอย่างรวดเร็ว
ความสำคัญต้องเปิดเกมรุก ค้นหาอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการ และการตรวจจะต้องใช้วิธีการที่ไว ในการค้นหา เช่นใน state quarantine จะเห็นว่าผู้ที่สามารถเดินทางได้ ตรวจพบได้อยู่เสมอ (0.8%)
เมื่อโรคได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องควบคุมการกระจายออกไป ด้วยการติดตาม และการตรวจวินิจฉัย กลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว
ทุกคนจะต้องป้องกันเขา ป้องกันเรา ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดที่ท่องกันไว้ ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กำหนดระยะห่าง (ลดการเคลื่อนย้าย) เพื่อควบคุมให้เกิดจุดระบาดใหม่ให้น้อยที่สุด จะได้ควบคุมได้โดยเร็ว
อาจจะต้องเสียสละความสุขส่วนตนบ้าง เพื่อความสุขส่วนรวม