เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ “ข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปี 2565” รวมทั้งสิ้น 203,027 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐ 55,198.26 ล้านบาท เป็นงบประมาณสู่การบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 147,828.83 ล้านบาท โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ข้อเสนองบประมาณกองทุนบัตรทอง ปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 8,518 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.4% ส่งผลให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 3,843.60 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 124.38 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ข้อเสนองบประมาณกองทุนบัตรทองปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจาก 1.อัตราเงินเฟ้อต้นทุนบริการที่เพิ่มขึ้น ทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2.ปริมาณงานและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยรองรับประชากรที่จะเข้าสู่ระบบบัตรทองจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่นำมาสู่ปัญหาการว่างงาน 3.เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์รายการใหม่เพื่อการเข้าถึงบริการที่เพิ่มขึ้น และ 4.รองรับนโยบาย “การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งรับบริการกับหมอประจำครอบครัวที่หน่วยปฐมภูมิใดก็ได้ บริการมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ที่ได้ที่มีความพร้อม รับบริการผู้ป่วยในโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และการเปลี่ยนหน่วยบริการมีผลทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน
“ในปี 2565 คาดว่าจะมีผู้เข้าสู่ระบบบัตรทองจำนวนมาก จากข้อมูลคาดการณ์อัตราการเกิดและอัตราการตายโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พบว่าจะมีผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองอยู่ที่ 47.547 ล้านคน ขณะเดียวกันจะมีผู้ที่ว่างงานเข้ามาในระบบอีกราว 3.9 แสนราย ประกอบกับในปี 2565 สปสช. ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกหลายรายการ และที่สำคัญคือการรองรับบริการ ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ที่เป็นการพลิกโฉมการให้บริการ เพิ่มความสะดวกสบายและประสิทธิภาพให้กับประชาชน นำมาสู่การจัดทำข้อเสนองบประมาณกองทุนบัตรทอง ปี 2565 จำนวน 203,027 ล้านบาท” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนองบประมาณกองทุนบัตรทอง ปี 2565 แบ่งเป็น
1. งบค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชากรในระบบและประชากรที่คาดว่าจะเข้ามาในระบบ รวม 161,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 5,916 ล้านบาท
2. ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 242 ล้านบาท
3. ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 10,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 404 ล้านบาท
4. ค่าบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง จำนวน 1,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 5.6 ล้านบาท
5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภาย และชายแดนใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท
6. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน จำนวน 1,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 176 ล้านบาท
7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 421 ล้านบาท
8. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,770 ล้านบาท
9. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการโรคโควิด-19 เป็นรายการใหม่ที่ขอรับงบตั้งแต่ต้นปี 2565 จำนวน 825 ล้านบาท
10. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 100 ล้านบาท จากการปรับอัตราการเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโควิด-19
11. ค่าบริการสาธารณสุขสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 19,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1,053 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2565 เป็นการดำเนินงานตามกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมติ ครม. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบอร์ด สปสช. ตลอดจนผลการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดย สปสช. จะเสนอข้อเสนองบประมาณนี้เข้าสู่การพิจารณางบประมาณของคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ สปสช. ยืนยันว่าจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด