ห้าม"การมั่วสุม-ชุมนุม"ในลักษณะที่เสี่ยงแพร่เชื้อโรค

30 ธ.ค. 2563 | 07:00 น.

ศบค.มอบอำนาจผู้ว่าฯสั่งห้ามการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค การชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีการรวมคน แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ควบคุม ยกเว้น กิจกรรมภายในครอบครัวในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) หรือศบค. ตอบคำถามเรื่องการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ที่ตอนนี้หลายที่ประกาศยกเลิกจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ไปแล้ว แต่ในอีกหลายที่ ยังไม่ยกเลิก เกรงว่าตัวเลขติดเชื้อจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น 

 

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.ให้แนวทางออกมา และเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะมีการประกาศออกมาในวันนี้ เป็นประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563  ซึ่งนั่นหมายถึงว่า จะโยงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับการผ่องถ่ายอำนาจไปจากทาง ศบค.
          

1.ห้ามมีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร
          

2.ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคน แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ควบคุม ยกเว้น กิจกรรมภายในครอบครัวในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ
          

3.การชุมนุมหรือทำกิจกรรม ต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ยกเว้น กิจกรรมภายในครอบครัวในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางการ
          

ห้าม\"การมั่วสุม-ชุมนุม\"ในลักษณะที่เสี่ยงแพร่เชื้อโรค

 

ทั้งนี้ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องรับโทษตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548        

"กรณีพื้นที่ควบคุม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เดี๋ยวจะมีการประกาศออกมา กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเอาตัวเลขที่เกิดขึ้นรายวันมาประเมินสถานการณ์ แล้วบอกว่าจังหวัดตัวเองเป็นพื้นที่อะไร พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ในการชุมนุมหรือทำกิจกรรม ต้องขออนุญาตจากผู้ว่า กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ ก่อน"นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ระบุว่า ศปม. ออกประกาศเรื่องการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 15  ดังนี้
 

1. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคทั่วราชอาณาจักร
 

2.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรม ที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม
 

3. การชุมนุม การทำกิจกรรมใดในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง ต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ กทม./ ผวจ. เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัว หรือกิจกรรมของทางราชการซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย

 

ห้าม\"การมั่วสุม-ชุมนุม\"ในลักษณะที่เสี่ยงแพร่เชื้อโรค
          

โฆษก ศบค.ยังแสดงความกังวลต่อการระบาดที่อาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ หากทุกคนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, การเว้นระยะห่าง และการไม่เข้าไปอยู่ในที่แออัด แต่หากทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะเกิดการล็อกดาวน์ในประเทศอีกรอบก็คงจะไม่เกิด
         

 "ตัวเลขในวันนี้ ทำให้หวั่นใจว่าจะต้องเดินไปในทางไหน สิ่งที่เราไม่อยากเห็นภาพ คือการล็อกดาวน์รอบ 2 รอบ 3 ไม่อยากให้เกิด แต่วันนี้ตัวเลข (ผู้ติดเชื้อในประเทศ) 3 หลัก ที่ 250 ราย พรุ่งนี้จะเป็นเท่าไร ถ้าสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ แทนที่จะเป็นเคาท์ดาวน์ในช่วงปีใหม่ อาจจะเป็นเคาท์ดาวน์ บรรยากาศแบบนี้ ถ้าทุกคนไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไปยืนเกาะกลุ่มกัน แล้วมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ขาดสติกัน หลังจากนั้นมา เราคงจะต้อง Count up จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น เราก็ไม่อยากเห็นภาพการล็อกดาวน์เหมือนที่ฝรั่งเศสทำกันแล้ว 2 รอบ ตอนนี้เรายังแค่รอบเดียว" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          

โฆษก ศบค. กล่าวถึงแนวทางการกักตัว เมื่อเดินทางออกจากจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงว่า ต้องขึ้นอยู่กับจังหวัดต้นทางที่อาศัยอยู่ว่าถ้าจะเดินทางไปจังหวัดอื่น แม้จังหวัดอื่นจะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น แต่เมื่อกลับมาแล้ว ผู้ว่าฯราชการในจังหวัดต้นทางที่ตัวท่านอยู่จะมีมาตรการหรือข้อปฏิบัติอย่างไร ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ
        

  "ณ ตอนนี้ ข้อสรุปที่จะเกิดขึ้น คงต้องรอประกาศของแต่ละจังหวัดที่จะออกมาตามพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ถ้าท่านไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง แล้วกลับมาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ ท่านก็ต้องกักตัว แต่หากไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำเหมือนกัน อาจไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ดีที่สุดตอนนี้ คือการอยู่บ้านกับครอบครัว ลดการเดินทาง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องดูแลตัวเองตามสุขลักษณะเต็มที่" นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิด-19 ลามไม่หยุด ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 จังหวัดรวมเป็น 48 จังหวัด

ยอดโควิด 30 ธ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 250 ราย จากในประเทศ 241 ราย ต่างประเทศ 9 ราย

ยอดโควิด 30 ธ.ค.63 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 5.75 แสนราย รวม 82.26 ล้านราย

"หมอยง"ร่ายยาววัคซีนโควิด-19 ทำไมไทยจึงช้า