รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ที่เพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉิน เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นก็มีประกาศไปในหลายเมือง ขณะที่ประเทศไทยยอดผู้ติดเชื้อเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆน้อยกว่า เพราะสัดส่วนการตรวจน้อยกว่า ดังนั้นจึงเสนอแนะให้รีบขยายการตรวจรักษาเพื่อตัดวงจรระบาดนี้
ทั้งนี้เนื้อหารายละเอียดของโพสต์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
ตอนนี้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะการระบาดทวีความรุนแรงขึ้น
เพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียก็เพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศไป หลังจากที่ญี่ปุ่นก็เพิ่งประกาศไปในหลายเมืองและกำลังจะขยายไปยังแถบตะวันตกของประเทศ
ยอดติดเชื้อของมาเลเซียทำลายสถิติสูงสุดต่อวันเท่าที่เคยมีมา สูงถึง 3,309 คน ในขณะที่ญี่ปุ่น เราทราบกันดีว่าตอนนี้เผชิญการระบาดระลอกสามที่รุนแรงสุด มากกว่าสองระลอกที่ผ่านมา โดยยอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกแรกถึง 10 เท่า และเพิ่งพบการติดเชื้อไวรัสที่สายพันธุ์ใหม่ ที่แตกต่างจากของสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้
โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ตรวจพบในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากบราซิล ทั้งนี้เค้ากำลังกังวลว่าจะสามารถแพร่ระบาดได้เร็วเฉกเช่นเดียวกับสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ เพราะพบการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตามยังต้องรอผลการศึกษาเชิงลึกต่อไป
แอบมาวิเคราะห์กันว่า ทำไมเค้าระบาดรุนแรง เจอคนติดเชื้อมากจัง?
จากข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2564 ของเว็บไซต์ ourworldindata พบว่า
มาเลเซียมีอัตราการส่งตรวจคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อ 8% ญี่ปุ่น 9.6% ส่วนไทยเรา 1.3%
โดยมาเลเซียทำการตรวจ 0.89 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ญี่ปุ่นตรวจ 0.51 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน ส่วนไทยเราตรวจ 0.21 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน คิดคร่าวๆ คือ มาเลเซียทำการตรวจในสัดส่วนเยอะกว่าเรา 4.5 เท่า ญี่ปุ่นเยอะกว่าเรา 2 เท่า
หากเทียบกับประเทศที่มีอัตราการส่งตรวจคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อเท่ากับเรา 1.3% คือเกาหลีใต้ พบว่าเค้าส่งตรวจ 1.05 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน เยอะกว่าเราประมาณ 5 เท่าครับ
อินเดียมีอัตราการส่งตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อประมาณ 2% แต่ทำการตรวจ 0.64 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน มากกว่าเราประมาณ 3 เท่า
ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ไทยเราจะมีคนติดเชื้อแฝงอยู่ทั่วไปอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ได้รับการตรวจ
สิ่งที่น่าทำคือ
หนึ่ง ขยายศักยภาพระบบตรวจคัดกรองโรคโควิดของไทยให้มากกว่าปัจจุบัน เพื่อเร่งตรวจหาคนติดเชื้อและนำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา เพื่อตัดวงจรระบาด
สอง รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงในปัจจุบัน นอกจากให้ช่วยกันป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังจำเป็นต้องประเมินตัวเองและสมาชิกในครอบครัว หากมีความเสี่ยง หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด จำเป็นต้องหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เราไม่ได้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเต็มที่แบบที่เคยทำมาในระลอกแรก จึงมีแนวโน้มที่จะเห็นการระบาดทวีความรุนแรงขึ้น
ที่น่ากังวลคือ หากศักยภาพของระบบการตรวจนั้นยังจำกัด การแพร่เชื้อรับเชื้อก็จะเกิดไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็อาจมีจำนวนมากจนเกินกว่าจะรับมือได้
ประชาชนคงต้องช่วยกันดูแลตนเองอย่างเต็มที่ และการขยายบทบาทของภาคเอกชนมาช่วยบริการด้านนี้อย่างเต็มที่ก็น่าจะช่วยได้เช่นกัน
...ด้วยรักต่อทุกคน