พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 64 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และข้อสั่งการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยเฉพาะ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีจุดตรวจคัดกรองประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย
1.บริเวณใต้สะพานข้ามแยกถนนพุทธมณฑลสาย 3 ถนนบรมราชชนนี ฝั่งขาเข้า เขตทวีวัฒนา 2.บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเอเชีย ถนนเพชรเกษม ฝั่งขาเข้า เขตหนองแขม 3.บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. สาขาพระราม 2 ซอย 92 ถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้า เขตบางขุนเทียน 4.บริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ถนนเอกชัย เขตบางบอน 5.บริเวณคลังสินค้าประตู 8 ถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งขาเข้า เขตดอนเมือง 6.บริเวณแยกใต้ด่วนมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ ฝั่งขาเข้า เขตหนองจอก 7.บริเวณหน้าครัวเจ๊ง้อ ถนนบางนา-ตราด ฝั่งขาเข้า เขตบางนา และ 8.บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. (ไทยวารีค้าไม้) ถนนกาญจนาภิเษก ฝั่งขาเข้า เขตตลิ่งชัน
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การปฏิบัติงานจุดคัดกรองทั้ง 8 แห่ง เป็นไปตามขั้นตอนและรูปแบบเดียวกัน อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน สำนักเทศกิจร่วมกับสำนักงานเขตจึงได้พิจารณากำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานขึ้นใหม่ โดยจะแจ้งรายละเอียดและรูปแบบที่ชัดเจนต่อที่ประชุมในถัดไป
สำหรับการเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สำหรับสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยในพื้นที่ที่มีการควบคุมโดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด สามารถรองรับได้ 500-600 เตียง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับเพิ่มเติมอีก 3-4 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยหากดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ครบตามแผน คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,500-1,700 เตียง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดโควิด 13 ม.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 6.28 แสนราย รวม 91.95 ล้านราย
“ชลบุรี” อัพเดท พื้นที่เสี่ยงติดโควิดรอบใหม่ 8 แห่ง
"หมอธีระ"แนะ รัฐขยายการตรวจ"โควิด"ให้มากขึ้น เพื่อตัดวงจรระบาด