"หมอธีระ"ย้ำชัด "วัคซีนโควิด"หากประสิทธิภาพสูงจะควบคุมโรคได้ง่าย

13 ม.ค. 2564 | 21:10 น.

"หมอธีระ" แนะ"วัคซีนป้องกันโควิด" หากมีประสิทธิภาพสูง จะควบคุมโรคได้ง่าย แต่ถ้าใช้ประสิทธิภาพน้อย ต่อให้ฉีดทุกคน ก็ไม่มีทางจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat "เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก การวิเคราะห์ถึงการระบาดในต่างประเทศ รวมไปถึงมาตรการแนวทางต่างๆของประเทศไทย รวมไปถึงเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด


โดยเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดประกอบไปด้วย


ส่วนตัวแล้วผมเชื่อมั่นในข้อมูลที่เห็นภาพรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เคยผ่านการระบาดซ้ำมาแล้วหลายสิบประเทศ


ธรรมชาติของระบาดซ้ำไม่ได้ควบคุมให้ราบเรียบได้โดยง่าย


อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าบทเรียนจาก 75 ประเทศ 88% จะระบาดเร็ว แรง กระจายไปทั่ว หลากหลายทั้งกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และคนทั่วไป มีเพียง 12% ที่สามารถจัดการการระบาดซ้ำได้โดยไม่บอบช้ำมากไปกว่าเดิม


แต่จะอยู่ใน 12% นั้นได้ ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ มาตรการเข้มงวดเคร่งครัดทันเวลา ระบบตรวจคัดกรองที่มีศักยภาพตรวจได้จำนวนมากและต่อเนื่องครอบคลุม และประชาชนเคร่งครัดป้องกันตนเองอย่างเต็มที่


เรามีแนวโน้มเป็นแบบใด ก็ให้ลองพิจารณากันดูตามสมควร


ระบาดซ้ำมักกระจายไปทั่ว คนทั่วไปมักติดเชื้อได้ระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน และแพร่เชื้อรับเชื้อต่อกันไป โดยหลายต่อหลายคนไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเหมือนไข้หวัด


โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาสู้กับการระบาดซ้ำ 2 เท่าของของเดิม ไม่ว่าจะเป็นประเภท 88% หรือแม้แต่ 12% ก็บวกลบไม่ต่างกันมากนัก
สัจธรรมที่พบเห็นได้คือ ไม่ตรวจย่อมไม่มี ตรวจน้อยย่อมมีโอกาสเจอน้อย ตรวจมากย่อมมีโอกาสเจอมาก 
 

 

วันก่อนโชว์ให้เห็นข้อมูลต่างประเทศเทียบตัวต่อตัวกับไทยเรา เห็นชัดเจนว่าจำนวนการตรวจต่อประชากร 1,000 คน เยอะกว่าเรามาก แม้แต่ประเทศอย่างเกาหลีใต้ที่มีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจเฉลี่ย 1.3% เท่ากับไทย แต่ตรวจมากกว่าเรา 5 เท่า เค้ายังมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันตั้งแต่ 500-1,000 คนต่อวันในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา


ประเทศที่ใช้มาตรการยืดหยุ่นนั้น มักจะดูเหมือนราบรื่นในช่วงแรก แต่สุดท้ายผมยังไม่เห็นประเทศใดที่รอดปลอดภัยจากการระบาดซ้ำที่รุนแรงจนต้องตัดสินใจดำเนินมาตรการเข้มสุด เช่น ล็อกดาวน์ แต่มักจะทำตอนช่วงที่ระบาดอย่างโหดร้ายเกิดขึ้นไปแล้ว จึงทำให้ต้องใช้เวลานาน และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม หากไทยเราสามารถทำได้สำเร็จก็คงจะดีมากครับ


เล่ามาแลกเปลี่ยนให้เราฟังกัน เพื่อเตือนให้เราทุกคนไม่ประมาท มีสติในการดำรงชีวิตประจำวัน ป้องกันตัวเสมอ การ์ดอย่าตก 


ระบาดซ้ำนั้นทั่วโลกตายกันเยอะ เพราะติดเชื้อกันมากในช่วงเวลาเดียวกัน เกินกว่าที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และทรัพยากรจะไม่พอหากเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ต้องรักตัวเอง ทำทุกทางอย่างเต็มที่อย่าให้ตัวเองและสมาชิกครอบครัวติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ด้วยการใส่หน้ากากเสมอเวลาออกนอกบ้าน อยู่ห่างคนอื่น ล้างมือบ่อยๆ พยายามทำงานที่บ้าน ไม่นั่งกินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านดีที่สุด และคอยสังเกตอาการหากไม่สบายให้รีบไปตรวจ
 

หันมามองเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด


หากใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ก็จะส่งผลให้ควบคุมโรคได้ง่ายขึ้นกว่าประสิทธิภาพต่ำ ทั้งนี้เพราะการที่จะควบคุมโรคโควิดไม่ให้ระบาดได้นั้น จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่อย่างน้อย 60% ของประชากรทั้งประเทศ โดยยืนบนสมมติฐานว่าวัคซีนได้ผล 100%


แต่หากวัคซีนได้ผลน้อยลง เช่น 80% ก็จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนราว 75% ของประเทศจึงจะหวังว่าจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ 60% ของประชากรทั้งประเทศ


หากยิ่งประสิทธิภาพน้อยมากๆ เช่น 50% ต่อให้เราฉีดทุกคนในประเทศ ก็ไม่มีทางจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศได้
ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้วัคซีนที่ประสิทธิภาพไม่มากนั้น ก็อาจต้องหวังประโยชน์ด้านอื่นแทน เช่น ลดความรุนแรงของโรค เป็นต้น

 

แต่ต้องระวังให้ดี ต้องชั่งผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดเท่านั้น แต่ที่สำคัญมากคือ หากประสิทธิภาพต่ำเกินไป จะทำให้เกิดผลกระทบสำคัญเช่น คนที่ได้รับอาจเข้าใจผิดคิดว่าป้องกันได้ และลดการ์ดลง ไม่ป้องกันตัวเอง ทำให้มีโอกาสที่ตนเองจะติดเชื้อแล้วป่วยหรือตาย 


และยิ่งไปกว่านั้นคือ เนื่องจากวัคซีนอาจไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ทำให้คนนั้นติดเชื้อแล้วเป็นคนแพร่ให้คนอื่นในสังคมวงกว้างได้ การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียดแก่ผู้ใช้และผู้ได้รับการฉีดจึงสำคัญมากๆ สำหรับกรณีดังกล่าว


เอาใจช่วยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ได้อย่างปลอดภัยด้วยรักต่อทุกคน