"หมอยง"คลายสงสัย ทำไม"วัคซีนโควิด"ผลศึกษาประสิทธิภาพต่างกัน

14 ม.ค. 2564 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2564 | 04:32 น.

"หมอยง" คลายสงสัย "วัคซีนโควิด-19" ผลศึกษาประสิทธิภาพต่างสถานที่ ต่างกลุ่ม ทำไมผลต่างกัน


จากการรายงานผลการทดลองทางคลินิกของวัคซีน "ซิโนแวก"ในบราซิลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพียง 50.4% ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็เตรียมขอข้อมูลเพิ่มจากบริษัทซิโนแวก ไบโอเทค ของจีน ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อ

 

ต่อเรื่องนี้เมื่อวันนี้ 14 มกราคม 64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” คลายข้อสงสัย ผลศึกษาประสิทธิภาพของ "วัคซีน" ทำไมจึงให้ผลต่างกัน  เนื้อหาดังนี้...

 

“โควิด-19 วัคซีน ผลการศึกษาประสิทธิภาพจึงต่างกัน

 

ผลของประสิทธิภาพวัคซีนในการศึกษา ต่างสถานที่ ต่างกลุ่ม ประสิทธิผลทำไมไม่เท่ากันเพราะการประเมินประสิทธิภาพ จะประเมินอะไร

ป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการเกิดโรค (ติดเชื้อได้แต่ไม่เป็นโรค) เป็นโรคแต่ไม่รุนแรง เช่นไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่เสียชีวิต

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จะประเมินตรงไหน ต้องชี้แจงให้ละเอียด ไม่ใช่บอกแต่ตัวเลข

 

ประเด็นที่ 2  ที่มีการประเมินผลวัคซีนเดียวกัน ทำในสถานที่และประชากรต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรที่ศึกษา ทำให้ผลต่างกัน เช่น การศึกษาวัคซีน HIV ในประเทศไทย ได้ประสิทธิภาพป้องกันกันโรคได้ 30%  ศึกษาที่แอฟริกา ได้ 0% เพราะแอฟริกา มีความเสี่ยงสูงกว่าไทย

 

ในทำนองเดียวกัน การศึกษาวัคซีนท้องเสียโรตา ในแอฟริกา ประเทศเมารี ได้ประสิทธิภาพ ร้อยละ 50 แต่ใช้วัคซีนเดียวกัน ทำในยุโรปได้ประสิทธิภาพสูง 83-90% เพราะแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค และการติดโรคได้สูงกว่าในยุโรป

 

ทำนองเดียวกันการศึกษาโควิดวัคซีน ถ้าทำในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประสิทธิภาพป้องกันในการศึกษาต่ำกว่า การศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ

 

การศึกษาของวัคซีนของจีนประสิทธิภาพที่จีนประกาศ 79% โดยรวม ตุรกี ประกาศผลประชากรทั่วไปได้ 91% และอินโดนีเซียได้  65% ตัวเลขต่างกัน คือ บราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ ได้  50.4%

 

ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนในแต่ละตัว การแปลผลจะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงตัวเลข”