ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลากหลายด้าน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ล่าสุด CMMU ได้ทำการวิจัยการตลาด “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” พบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวลและรับรู้ถึงความไม่แน่นอน คือ โรคอุบัติใหม่และโรคระบาด เช่น โควิด-19 คิดเป็น 76.8%
ตามมาด้วยอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 ไอเสีย ขยะล้นโลก ฯลฯ 74.6% ด้านสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเห็นต่างกันในสังคม 65% ด้านเศรษฐกิจทั้งเรื่องค่าครองชีพสูงและความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน 64% ด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ 62.8% และด้านการเมืองที่มีสถานการณ์อันส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน 62.6%
ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่ากลุ่ม Gen X กลุ่ม Baby Boomer กลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen Z มีความกังวลเกี่ยวกับด้านโรคระบาดมากที่สุด โดยทุกกลุ่มเจเนอเรชันต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึก ซึ่งพบว่า คนไทยหันหน้าพึ่งความเชื่อโชคลาง (Superstitious) โดยที่ 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุดคือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2.พระเครื่องวัตถุมงคล 3.สีมงคล 4.ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ ผ่านช่องทาง ได้แก่ โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ 73.8% บุคคลรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง 59.6% ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ 29.7% หนังสือพิมพ์และนิตยสาร 20.1% และสื่อโทรทัศน์และวิทยุ 19.6%
วิธีจัดการกับความรู้สึกกังวล ต่อมาคือ การเชื่อฟังอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลและผลต่อการรับรู้และวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลที่ติดตามคือ เพราะเนื้อหา 81.9% ตามมาด้วย เพราะรูปแบบการนำเสนอ 69.2% และ เพราะความน่าเชื่อถือ 45.3% ในขณะที่แฟลตฟอร์มที่คนไทยใช้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดคือ 1. Youtube 2. Facebook และ 3. Instagram โดยที่กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Baby Boomer นิยมใช้แฟลตฟอร์ม Facebook และ Youtube กลุ่ม Gen Y นิยมใช้แฟลตฟอร์ม Youtube และ Facebook ส่วนกลุ่ม Gen Z นิยมใช้แฟลตฟอร์ม Youtube และ Instagram
อีกวิธีที่ถูกนำมาใช้จัดการกับความรู้สึกกังวล จากสถานการณ์ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม คือ การสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์คอมมูนิตี้ (Online Community) ผ่านหลากหลายกลุ่ม เช่น 1.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 2.กลุ่มท่องเที่ยว 3.กลุ่มครอบครัว 4.กลุ่มสุขภาพและความงาม 5.ความบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ 6. ธรรมชาติ 7. ชอปปิ้ง 8.การศึกษา 9.การเงินและการลงทุน และ 10.สัตว์เลี้ยง
โดยกลุ่ม Baby Boomer ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มสุขภาพและความงาม ผ่านการรับรู้ข้อมูลบนแฟลตฟอร์ม Facebook และไลน์ กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Y มีความสนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงการท่องเที่ยวผ่านบนแฟลตฟอร์มไลน์ Facebook และ Instagram ส่วนกลุ่ม Gen Z สนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงการศึกษาผ่านบนแฟลตฟอร์ม Facebook และ Instagram โดยการมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ ได้แก่ ติดตามและกด Like 72.9% แชร์ข้อมูล 44.6% แสดงความคิดเห็น 37.2% และซื้อ-ขายสินค้า 24.4%
ด้านนางสาวมูรธา จรรยาวรลักษณ์ หัวหน้าทีมวิจัย Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิจัยการตลาดซีเอ็มเอ็มยูจึงได้คิดค้นกลยุทธ์เซอเทิ่น (Certain Strategy) เพื่อเป็นกุญแจด้านการสื่อสาร เพื่อตอบโจทย์และมัดใจผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ประกอบไปด้วย
1. Content First เนื้อหาต้องดีโดนใจ ภาคธุรกิจต้องสร้างสรรค์เนื้อหาในการสื่อสารกับกลุ่มตลาดอย่างมีศักยภาพ ตรงใจ ตรงความต้องการ 2.Engagement with Faith การเข้าถึงด้วยความเชื่อ ดังนั้นหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคได้คือสร้างผสมผสานความเชื่อ 3.Reliable Data ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ 4.Trust in Community ความเชื่อในสิ่งเดียวกัน ผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นมีความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เต็มไปด้วยข้อมูลจากคนที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในเรื่องเดียวกัน
5.Agility ต้องมีความคล่องตัว การทำงานอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างฉับไวในสภาวะที่มีความไม่แน่นอน 6.Influencer Leading ใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด จะทําให้ผู้บริโภคนั้นมั่นใจและตัดสินใจได้มากขึ้น และ 7.New Equilibrium ความสมดุลใหม่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารของแบรนด์ผ่านตัวแบรนด์เอง การใช้ Key Opinion Leader (KOL) หรือรีวิวการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ใช้ผู้บริโภคเอง (User-Generated Content)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
LINE เผยพฤติกรรมซีวิตดิจิทัลสุดปังคนไทยปี 63
"ไอ้ไข่ฟีเวอร์"สายการบินเกาะกระแส จัดโปรเอาใจสายมู
CMMU แนะปรับหลักสูตร สร้างภูมิคุ้มกัน “ธุรกิจ”