จากกรณีที่วันนี้ (16 ม.ค.) ฐานเศรษฐกิจ นำเสนอประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดีย ที่มีกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียว่า "กลุ่ม Code for Public" ซึ่งทีมงานพัฒนาแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" ซึ่งรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควดิ-19 หรือ ศบค. เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน เตรียมยุติบทบาท พร้อมกับ ระบุรายละเอียดถึงการ ถูก "ผู้ใหญ่" กดดัน
จากนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลพบอย่างน้อย 2 โพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า มีการโพสต์ชี้แจงในลักษณะยืนยันการยุติบทบาทจริง และเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งมอบให้รัฐบาลดูแล 100%
โดยโพสต์แรก ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่ชื่อว่า Code For Public ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของทีมงานพัฒนาแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" โดยตรงที่มีการโพสต์ชี้แจง ดังนี้
ชี้แจงการส่งต่อแอป ฯ “หมอชนะ” จากกลุ่มอาสาสมัครไปสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัว
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในการดูแลจัดการแอปฯ หมอชนะ ที่ค่อนข้างมีความสำคัญ ทางเราซึ่งเป็นกลุ่มนักพัฒนาจึงอยากจะขอแถลงชี้แจงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อความชัดเจนและโปร่งใสในการทำงาน ดังนี้
1. แอปฯ หมอชนะ ที่เดิมถูกดูแลจากกลุ่มอาสาสมัครร่วมกับหน่วยงานราชการมาตลอดหลายเดือน ล่าสุดหลังจากวันนี้เป็นต้นไปจะถูกส่งต่อไปควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเต็ม 100%
2. ทางกลุ่มนักพัฒนาจะขอแก้ไขบั๊กที่เกิดขึ้น เช่น การกินแบต หรือ กินดาต้า และอัปเดตแอปฯ เป็นครั้งสุดท้ายภายในอีก 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้โค้ดดังกล่าวจะถูกนำขึ้นใน store หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติของภาครัฐ
3. หลังจากนั้นทางกลุ่มนักพัฒนาขอแสดงความชัดเจนว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ดูแลแอปฯ หมอชนะอีกต่อไปอย่างเป็นทางการ แต่จะยังคงพัฒนา Open Source ตัวเดิมต่อไป แต่เป็น Repository ใหม่ที่ชื่อว่า SQUID แทน ซึ่งทางเราจะยังคง Open Source สิ่งที่เพิ่มเข้าไปหรือเปลี่ยนแปลงต่อไป
4. ส่วน Repository ของหมอชนะจะถูกดูแลโดยรัฐบาลซึ่งเราไม่สามารถการันตีได้ว่าทางกลุ่มดูแลใหม่จะอัปเดต Repo ให้ตรงกับล่าสุดและ/หรือมีการอัปเดต Source Code ที่แก้ไขขึ้นหรือไม่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากทางรัฐบาล
5. การส่งต่อให้รัฐบาลนี้เราคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญเช่นเดิม ดังนั้นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล รวมถึงตัวแอปฯ ได้ปิด feature ยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวอร์ชัน 2.0.1 ทำให้ผู้ใช้ใหม่จะไม่มีวิธีในการใส่เบอร์โทรตัวเองเข้าระบบอีกต่อไป
ทางเรากลุ่มนักพัฒนา Codeforpublic จึงอยากขอเรียนชี้แจงถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เพราะเชื่อว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และอยากแสดงความชัดเจนว่าทางกลุ่มนักพัฒนาจะไม่ได้มีส่วนในการดูแลแอปฯ “หมอชนะ” จากนี้เป็นต้นไปค่ะ
ซึ่งทั้งหมดก็เป็นไปตามที่ทางเราวางแผนกันไว้ว่าเราจะดูแลเพียงส่วนของ Open Source ส่วนใครจะ Fork แอป ฯ ไปใช้ต่อทางเราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ทางเราทำแอปฯ นี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ดี และเชื่อว่าถ้าใช้ไปในทางที่ถูกต้องเราจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก ดังนั้นทางเราจึงอยากจะขอเชิญชวนเหล่านักพัฒนาทั้งหลายช่วยกันสอดส่องทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้กับแอปฯ หมอชนะ ร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าหลังจากนี้จะไม่มีอะไรสอดแทรกมาในแอป ฯ หมอชนะเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายทางสิทธิส่วนบุคคลได้ค่ะ
อย่างไรก็ตามทางเรามีความมั่นใจว่าทางรัฐจะสามารถดูแลแอปฯ หมอชนะได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากการส่งต่อ รวมถึงมีการสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้ใช้งานทุกท่านเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดูแลจัดการ พวกเรากลุ่มนักพัฒนาขอฝากความหวังของทุกคนในชาติไว้กับท่านค่ะ
ขอบคุณค่ะ
#savepeople
และในเวลาไล่เลี่ยกัน มีการโพสต์ชี้แจงในแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team โดยเนื้อหาระบุว่า
การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความภูมิใจที่จะส่งมอบ แอปพลิเคชั่น หมอชนะ อันเกิดจากการริเริ่มบูรณาการของภาคประชาชนสู่ภาครัฐ ที่มีความครบสมบูรณ์ในแนวทางการออกแบบและกระบวนการในการใช้งานทุกอย่าง ดังที่ได้เคยนำไปใช้แจ้งเตือนอย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ในปีที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิผล
จากการระบาดของโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างฉับพลัน การรวมตัวของจิตอาสาหลายสิบกลุ่มจึงก่อกำเนิดขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ในวาระวิกฤติแห่งชาตินี้ พวกเราได้หันหน้ามาจับมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำเอาจุดเด่นแต่ละไอเดีย มาบูรณาการร่วมมือกันภายใต้ทีม Code for Public โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนในนามกลุ่มช่วยกัน ภาครัฐคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจิตอาสาอิสระจำนวนมากมายรวมกว่าร้อยคนที่ทำงานมาร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ช่วยเข้ามารับดูแลแอปหมอชนะอย่างเป็นทางการ
กว่า 9 เดือนที่ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะได้ร่วมกันออกแบบ หมอชนะ ของประชาชนโดยคำนึงถึงเป้าประสงค์หลักในการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักการ สังคมช่วยดูแลซึ่งกันและกัน พวกเราได้เก็บรวบรวมความต้องการการใช้งานจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมควบคุมโรค หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนที่มีความต้องการต่างๆกัน โดยทีมงานอาสาฯมุ่งเน้นออกแบบเพื่อการใช้งานได้จริง และ คำนึงความเป็นส่วนตัว (data privacy) เป็นหลักการในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น
ถึงเวลานี้หลายภาคส่วนในสังคมไทยที่ร่วมกันต่อสู้กับโควิด ได้จุดประกายแห่งความหวัง และมีกำลังใจ เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการติดตามประวัติการเดินทาง และตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในการติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับเชื้อ หันมายอมรับและเลือกใช้ แอป หมอชนะ เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดอย่างรุนแรงของโควิดในรอบนี้
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ งานที่ผ่านการทุ่มเทจากอาสาสมัครนับร้อย จะได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง พวกเราหวังว่า การที่แอปได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว น่าจะทำให้ประสิทธิภาพการติดตามประวัติการเดินทางจากเดิมเป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง เป็นการที่ภาครัฐ และกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำครบถ้วน เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้ว ได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดิน ทางและค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอป รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพื่อให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร
การมีข้อมูลผู้ป่วยตั้งต้น มาใช้ในการทำ contact tracing ให้ครบถ้วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ระบบ หมอชนะ ทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ตามที่ระบบได้ถูกวางไว้ หากไม่มีข้อมูล หรือไม่มีการดำเนินการ tracing ไม่มีการแจ้งเตือนและเปลี่ยนสีตามระดับ ก็จะไม่เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้มีประชาชนจำนวนมากดาวน์โหลดแอป หมอชนะ ไปใช้ก็ตาม
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐ จะใช้ศักยภาพของระบบอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเตือน และรับรู้ความเสี่ยงของตนเองผ่านการแสดงสีบ่งบอกสถานะความเสี่ยง (เขียว/เหลือง/ส้ม/แดง) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยรัฐในการดูแลตนเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนที่ใกล้ชิดด้วย ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงกว่าที่ทีมอาสาสมัครได้เคยดำเนินการมาเองในช่วงก่อนมีการระบาดอย่างวิกฤติในรอบนี้ อันจะเป็นการลดภาระงานและความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด และเอาชนะได้ในที่สุด
นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้าน อาคาร โรงงาน สถานประกอบการ ที่ได้ใช้ แอปหมอชนะ ในปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงของพนักงานหรือผู้มาติดต่อที่เข้ามาใช้สถานที่ผ่านการตรวจดูสีสถานะความเสี่ยงบนหน้าจอหมอชนะ ก็จะได้ความมั่นใจยิ่งขึ้นที่หมอชนะได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ในการให้การดูแลพนักงานและสถานที่ โดยอาศัยสถานะสีช่วยแยกบุคคลผู้เสี่ยงออกจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ การปฎิบัติคัดกรองและดูแลอย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้อย่างตรงจุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อติดต่อระหว่างกัน และมุ่งให้กิจการยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ไม่ต้องกลับไปปิดล็อคดาวน์ทั้งหมดแบบที่เสียหายต่อเศรษฐกิจ และเราทุกคนไม่อยากจะเห็นซ้ำอีก
จากนี้ไป เรามีความมั่นใจว่า การที่แอป หมอชนะ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐ อย่างเป็นทางการเพียงเสียงเดียว จะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน เป็นไปด้วยความถูกต้อง คำนึงถึง privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมภิบาลและทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจและมั่นใจที่จะร่วมกัน ให้ความร่วมมือใช้งานแอป หมอชนะ ในการต่อสู้วิกฤตินี้ด้วยกัน อย่างพร้อมเพรียง
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ยังคงพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป และยินดีช่วยเหลือรัฐบาลอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อดูแลให้คนไทยผู้ใช้แอปได้ปลอดภัยจากโรค และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์
ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นไปอย่างมีเอกภาพ และเป็นไปตามแนวทางนโยบาย ยุทธวิธีต่อสู้กับโรคของภาครัฐ และเพื่อป้องกันความสับสนของสาธารณะ หากผู้ใช้ทุกท่านที่อาจมีข้อแนะนำ หรือ ความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในฟังก์ชัน แนวความคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแอป หมอชนะ ในแง่มุมใด ขอให้ท่านส่งตรงไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบแอป หมอชนะ ต่อไป เพื่อให้ได้รับการพิจารณาโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายได้ตัดสินใจตามสมควร
และหากมีความเปลี่ยนแปลง ในแนวทางการใช้งาน การบริหารจัดการแอปในอนาคตต่อไปอย่างไร ก็ขอให้ผู้ใช้งานได้ติดตามข่าวสาร โดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางการ เพียงแหล่งเดียว
Facebook ของหมอชนะ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็จะได้รับการดูแลและตอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแนวคิด การออกแบบ และการทำงานของระบบ หมอชนะ ตามที่ทีมอาสาสมัครได้ทำไว้แต่แรกเริ่ม รวมถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างของการพัฒนา สามารถเข้าไปติดตามได้จาก https://www.facebook.com/CodeForPublic
ทีมงานอาสาสมัคร “หมอชนะ”
15/1/64
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สะพัด ทีมพัฒนาแอป "หมอชนะ" จ่อถอนทีม แฉโดน "ผู้ใหญ่" กดดัน
แอป "หมอชนะ" สรุปวิธีดาวน์โหลด ติดตั้ง วิธีใช้ เช็กที่นี่ครบจบ
”แอปฯ “หมอชนะ” เปลี่ยนระบบใหม่ โละข้อมูลที่ไม่จำเป็น
แอป "หมอชนะ" เวอร์ชันใหม่ ไม่เปลืองแบต-ไม่คิดค่าดาต้า
ปลดล็อก “หมอชนะ” ทุกค่ายมือถือ เปิดให้ใช้ฟรี ไม่คิดค่าบริการดาต้า