ศบค.ห่วงสถานการณ์โควิด "สมุทรสาคร-กทม.-ชายแดนใต้"

19 ม.ค. 2564 | 08:00 น.

ศบค.ห่วงสถานการณ์โควิด 3 จุดสำคัญ สมุทรสาคร กทม. และชายแดนภาคใต้ วอนประชาชนร่วมมือป้องกัน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) หรือศบค. แถลงว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) และ ศบค. ยังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดภายในประเทศ 3 จุดที่สำคัญ คือ สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ และชายแดนใต้

 

ศบค.ห่วงสถานการณ์โควิด \"สมุทรสาคร-กทม.-ชายแดนใต้\"
          

โดยที่สมุทรสาคร จะต้องใช้แนวทางในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในโรงงานที่มีอยู่นับหมื่นกว่าโรง เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาเข้าสู่ระบบการรักษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมโรคทำได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในโรงงานต่างๆ ยังมีอุปสรรค เนื่องจากจำนวนโรงงานที่มีมาก แต่ก็จะต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้ คือ การใช้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปสุ่มตรวจอย่างน้อยวันละ 600 แห่ง และตรวจอย่างน้อย 50 คน/โรง ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่จะต้องทำให้ครบภายในสิ้นเดือนนี้ตามที่ประกาศข้อกำหนดมาตรการจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ม.ค.64
          

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐเองทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ตลอดจนกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้การควบคุมและจัดการโรคในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีความรวดเร็ว
          

"ในหมื่นกว่าโรงงาน ทำอย่างไรจะค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ตอนนี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ พรุ่งนี้ต้องเอาข้อมูลมารายงานใน ศบค. ติดขัดตรงไหนจะได้เร่งแก้ไข เพื่อจะดึงผู้ป่วยที่รอการรักษาแยกออกมาให้ได้เร็วที่สุด" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
          

ส่วนสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ที่มีความน่ากังวล แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะเป็นระดับ 1 หลักหรือ 2 หลัก เนื่องจากวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ มีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน แม้ว่าพื้นที่จะมีขนาดไม่ใหญ่แต่จำนวนประชากรค่อนข้างหนาแน่น ทำให้เริ่มเห็นการแพร่เชื้อสู่บุคคลในครอบครัวเดียวกันมากขึ้น ดังนั้นระบบการค้นหาเชิงรุกจะต้องออกแบบและวางระบบเป้นอย่างดี ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำงานร่วมกัน กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
          

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะใน 5 เขตที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ คือ เขตบางขุนเทียน, เขตบางแค, เขตบางพลัด, เขตจอมทอง และเขตธนบุรี ซึ่งอาจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากมีพื้นที่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสาคร
          

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับไทย มีตัวเลขการระบาดในระดับหลักพันคนต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำประสบการณ์ในการควบคุมโรคที่เคยใช้กับประเทศเมียนมา ซึ่งมีชายแดนติดต่อทางฝั่งตะวันตกกับประเทศไทยมาใช้กับภาคใต้ด้วย ดังนั้นหากมีการควบคุมการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาด้วยเช่นกัน