"สาธารณสุข" จัดทีมเฝ้าระวังรับจ้างอุ้มบุญ ป้องกันฉวยโอกาสจากเหล่านายหน้า

29 ม.ค. 2564 | 03:45 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทีมเฝ้าระวังรับจ้างอุ้มบุญ คุมเข้มการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ป้องกันมิให้เกิดการล่อลวงให้ทำผิดกม.

29 มกราคม 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตลอดช่วงระยะเวลาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประจวบกับปัจจุบันหลายประเทศมีอัตราการเกิดที่ลดลงจึงอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีอาศัยช่วงที่ประชาชนตกอยู่ในภาวะลำบาก ชักชวนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางที่ผิด ทั้งการรับจ้างอุ้มบุญ หรือการขายไข่-อสุจิ

 

ทั้งนี้ อาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงยังมีผู้เสี่ยงลักลอบใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางที่ผิดอีก ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” ในการควบคุม กำกับดูแล และมีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยนั้น มีความก้าวหน้าและทันสมัยอยู่ในอันดับต้นๆของโลก มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 46 ด้วยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่สูงดังกล่าวจึงทำให้นายหน้า หรือคู่สมรสบางรายยอมเสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย

 

ดังนั้น จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังการใฃ้เทคโนโลยีฯ และดำเนินการของสถานพยาบาลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ก็มีบทกำหนดโทษการกระทำผิดดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน อาทิ ผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ใดซื้อ-ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ

 

การรับจ้างอุ้มบุญนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและก่อให้เกิดปัญหาในด้านมนุษยธรรมต่อเด็กที่เกิด ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งหลายประเทศมีการปิดน่านฟ้า ส่งผลให้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญไม่สามารถเดินทางไปคลอด ณ ประเทศปลายทางเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาการทอดทิ้งเด็ก หรือปัญหาในการกำหนดสิทธิ์ความเป็นบิดา-มารดา

 

หากลักลอบเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด 19 และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานลักลอบเข้าประเทศจากประเทศนั้นๆอีกด้วย จึงขอให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

 

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า การรับบริการด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะวิธีการอุ้มบุญ ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วยกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่มีบุตร ไม่อนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ทำ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นญาติสายตรงกับคู่สมรส  มีบุตรมาแล้วเช่นกัน หากยังอยู่กินกับสามี จะต้องได้รับการยินยอมจากสามีก่อน 

 

ส่วนหญิงโสดไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการจะต้องตรวจประเมินความพร้อมทางร่างกาย จิตใจและสภาพแวดล้อมของผู้รับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์  สามารถใช้ 2 วิธีคือ ใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรือ อสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ และห้ามทำเพื่อการค้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ผู้รับทำ นายหน้า และคู่สมรส

 

ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดกฎหมายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์แทน โฆษณาเชิญชวนให้มีการอุ้มบุญ หรือซื้อขายไข่-อสุจิ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

29 ม.ค.ลุ้น ศบค.ชุดใหญ่ ถกเคาะพื้นที่คลายล็อค "มาตรการคุมโควิด"

"สมุทรสาคร" ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่พุ่ง 765 ราย

ศบค.จ่อผ่อนคลาย ขยายเวลาเปิดร้านถึง 5 ทุ่ม

อัพเดท อาการผู้ว่าฯสมุทรสาคร ยังมีความหวัง-ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนปอด

ยอดโควิด 29 ม.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 5.74 แสนราย รวม 101.98 ล้านราย