นายประยูร รัตนเสนี อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งเรื่อง สิทธิและสวัสดิการของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)
โดยหนังสือระบุว่า ด้วยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้รับแจ้งจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกลางว่า ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ตรวจสอบ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ที่มีอยู่ ในปัจจุบัน และเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการ ดังกล่าวให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในสังกัดศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1.ค่าตอบแทนกรณีสั่งใช้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ว่าด้วยค่าใช้จ่าย ของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายให้แก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ในอัตราต่อคนต่อวัน ดังนี้
1.1 กรณีการปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่าย จํานวน 100 บาท
1.2 กรณีการปฏิบัติหน้าที่เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่าย จํานวน 200 บาท
1.3 กรณีปฏิบัติหน้าที่เกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ได้รับค่าใช้จ่าย จํานวน 300 บาท ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงสถานะทางการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
ค่าตอบแทนข้างต้น เป็นเงินค่าใช้จ่ายที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนได้รับเมื่อมี การสั่งใช้เป็นรายครั้งในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่อ้างอิงมาจาก อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สะท้อนค่าใช้จ่ายประจําวันของบุคคล ซึ่งเป็นจํานวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะ เศรษฐกิจขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงและอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ก็อาจเสนอให้มีการทบทวนและปรับปรุงอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นต้นสังกัดและเป็นผู้สั่งใช้ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแต่ละแห่ง มีฐานะทางการเงินการคลังที่แตกต่างกัน การกําหนดอัตราค่าใช้จ่าย เป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จึงต้องคํานึงถึงฐานะการเงินการคลัง และต้องไม่เป็นภาระแก่หน่วยงาน
ประกอบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความเสี่ยงสาธารณภัย ที่แตกต่างกัน ทั้งพื้นที่ ประเภท จํานวน ความเสียหาย จึงเป็นดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ในการบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ของตน การจ่ายค่าตอบแทนให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตามจํานวนการสั่งใช้จึงมีความเหมาะสม
2. กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีการสั่งใช้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนให้ปฏิบัติหน้าที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดสามารถเบิกจ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งได้รับการขยายวงเงิน จากกรมบัญชีกลางเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกประเภทที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคําสั่งปฏิบัติงาน ป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานในลักษณะเหมาจ่ายตามหนังสือ กระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0605/ว 22652 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ในอัตรา ดังนี้
2.1 กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตรา วันละ 120 บาท
2.2 กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราวันละ 240 บาท
3. สิทธิและสวัสดิการอื่น ๆ
3.1 เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพขนาดหนัก ตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 ประกอบกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราในการจ่ายเงินสงเคราะห์ และกําหนด ลักษณะของความพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคสําคัญยิ่งในการประกอบอาชีพ หรือในการดํารงชีพ พ.ศ. 2554
3.2 เงินสงเคราะห์จากมูลนิธิอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพ พิการ หรือสูญเสียอวัยวะ/แพทย์รับรักษาไว้เป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 3 วัน ตามประกาศมูลนิธิอาสาสมัครป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือน เรื่อง หลักเกณฑ์การสงเคราะห์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555
3.3 การจัดหาเครื่องแต่งกายชุดฝึกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือชุดปฏิบัติการ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน รวมทั้งบัตรประจําตัวอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน วุฒิบัตรอาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และเข็มเครื่องหมายอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจพิจารณาตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายได้คนละไม่เกิน 2 ชุดต่อปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าวัสดุเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2560
3.4 การเบิกค่าใช้จ่ายให้กับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกรณีเดินทางไปฝึกอบรม หรือมีคําสั่งให้เดินทางไปราชการ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น หรือระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แล้วแต่กรณี
3.5 การลดหย่อนอัตราค่าโดยสารรถไฟ เป็นรายบุคคล ในอัตราร้อยละ 20 ทุกระยะทาง เฉพาะการเดินทาง ในรถนั่งชั้น 3 ธรรมดา (ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่มีไม่ลดให้) ในช่วง 4 เดือน ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง กันยายน ของทุกปี ตามหนังสือศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกลาง ที่ มท 0620.2/ว 3616 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 และคําสั่งฝ่ายการเดินรถ ที่ พ.๕/ดส.37/2/2558 เรื่อง ระเบียบการลดค่าโดยสารให้แก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ลงวันที่ 28 มีนาคม 2558
3.6 การลดหย่อนค่าโดยสารรถประจําทางของบริษัท ขนส่ง จํากัด ในเส้นทางรถโดยสาร ประจําทาง หมวดที่ 2 (ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด) และหมวด 3 (ระหว่างจังหวัด) ลงร้อยละ 20 (เฉพาะค่าโดยสาร ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ที่บริษัท ขนส่ง จํากัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ตามหนังสือกรมการขนส่งทางบก ที่ กค 0406.2/2491 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 เรื่อง แจ้งมติ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
3.7 การใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นลายลักษณ์อักษร โดยใช้คลื่นความถี่ของทางราชการ 162.800 MHz ในภารกิจของอาสาสมัครป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ควบคุมดูแล
3.8 สิทธิในการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ โดยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน สามารถนําส่งเรื่องการขอเสนอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อดําเนินการ
ทั้งนี้ กรณีสิทธิและสวัสดิการอื่นๆ กําลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมตามที่ระเบียบกฎหมายกําหนด
ในการนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอความร่วมมือให้จังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ให้อาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในสังกัดศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทราบโดยทั่วกัน