สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นภายใน อียู ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับการส่งมอบซึ่งทำให้วัคซีนขาดแคลน ทั้งนี้กลไกความโปร่งใส (transparency mechanism) ให้อำนาจประเทศต่างๆ ในอียู ที่จะปฏิเสธการอนุญาตส่งออกวัคซีน หากบริษัทผลิตวัคซีนไม่ปฏิบัติตามสัญญาการส่งมอบวัคซีนที่มีอยู่กับทางอียู
“การปกป้องและความปลอดภัยของพลเมืองของเราเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และปัญหาที่เราเผชิญในขณะนี้ ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องดำเนินการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตใน อียู ”
สำหรับมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนของอียู จะส่งผลกระทบต่อราว 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร, สหรัฐ, แคนาดา และออสเตรเลีย แต่อีกหลายประเทศรวมถึงประเทศที่ยากจนจะได้รับการยกเว้น ขณะเดียวกัน EU ยืนยันว่า การควบคุมการส่งออกวัคซีนนั้นเป็นมาตรการเพียงชั่วคราว และไม่ใช่การห้ามส่งออกวัคซีน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวของอียู โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ทั้งนี้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนเกิดขึ้น หลังจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษเปิดเผยว่า วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จะมีการส่งมอบไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ต่ำกว่าเป้าหมายไปจนถึงปลายเดือนมี.ค. เนื่องจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส
บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐ ระบุเช่นกันว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 เหลือเพียง 50% ให้แก่ยุโรป โดยจะกระทบการส่งมอบในช่วงสิ้นเดือนนี้ไปจนถึงต้นเดือนหน้า
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีที่ไทยไม่สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรก 50,000 โดส จากบริษัท AstraZeneca ได้ทันภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เนื่องจากติดปัญหาที่อียู จำกัดการส่งออกวัคซีน จากบริษัท AstraZeneca โดยวัคซีนล็อตนี้ เป็นเจรจานอกเหนือจากแผนเดิม ก่อนที่จะมีการนำเข้าวัคซีนล็อตใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายน เบื้องต้นรัฐบาลไทย อยู่ระหว่างเจรจาให้ข้อมูล กับทาง อียู ถึงการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca เนื่องจากไทยกับบริษัท AstraZeneca ได้มีข้อตกลงกันก่อนที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น คาดว่าทาง อียู จะมีการพิจารณาผ่อนปรน และสามารถนำเข้าวัคซีนล็อตนี้ได้ภายในเดือนนี้
ส่วนวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จากจีน ที่ติดปัญหายังไม่มีการขึ้นทะเบียน ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อเร่งพิจารณาขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน ให้สามารถนำเข้ามาใช้ได้โดยเร็ว คาดว่าสามารถนำเข้าได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ (ตอน1)
จีนเผยโฉมวัคซีนโควิดชนิดใหม่ ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย
9 ประเทศทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 4.4 ล้านโดส
“อรุณรุ่ง” วิกฤตโควิดยุโรป อียูเริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว