5 กุมภาพันธ์ 2564 นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลในการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยมีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เป็นกลไกสำคัญ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ให้เข้าถึงการรับรู้ของประชาชน
ทั้งนี้ จากการดำเนินการเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข่าวปลอม และจัดทำข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่สู่ช่องทางบนสังคมออนไลน์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่าระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 62 – 31 ม.ค. 64 ทางศูนย์ฯ เผยแพร่ข่าวที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว 1,314 เรื่อง โดยมีการเข้าถึงโพสต์ข้อมูลที่เผยแพร่เหล่านี้ผ่านโซเชียล จำนวน 14,552,620 คน (Reach) และสร้างการมีส่วนร่วม จำนวน 1,168,187 ครั้ง (Engagement) อีกทั้งมีสำนักข่าวรายหลัก ๆ 10 อันดับแรก ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม จำนวนรวม 9,079 ข้อความ นอกจากนี้ ยังมีสื่อทีวี และอินฟลูเอนเซอร์ ที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายด้วย
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 62 - 31 ม.ค. 64 มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 56,482,317 ข้อความ พบข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 22,728 ข้อความ และหลังจากคัดกรอง พบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 8,278 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดหมู่ข่าว ดังนี้ สุขภาพ 56% , นโยบายรัฐ 39% , ศก. 3% และภัยพิบัติ 2%
ขณะที่ ช่องทางซึ่งมีการพบเบาะแสข่าวปลอมมากที่สุดอันดับ 1 คือ ระบบตรวจจับการสนทนาบนโซเชียล (Social Listening Tools) 99.46% รองลงมา ได้แก่ บัญชีไลน์ทางการของศูนย์ฯ 0.51%, เฟซบุ๊ก 0.02% และการแจ้งเบาะแสผ่านเว็บไซต์ทางการของศูนย์ฯ 0.01% ตามลำดับ ทางด้านสัดส่วนของข่าวปลอม : ข่าวจริง : ข่าวบิดเบือน ยังคงอยู่ที่ 7 : 2 : 1
นายภุชพงค์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการทำงานตรวจสอบข่าวปลอมโดยศูนย์ฯ แล้ว ประชาชน ยังสามารถช่วยกันตรวจสอบข่าวปลอมที่แพร่กระจายอยู่บนโลกออนไลน์/โซเชียล ก่อนแชร์ต่อ โดยใช้หลัก SPOT ได้แก่ Source ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว ว่ามาจากสื่อที่เชื่อถือได้หรือไม่, Profit หรือเจตนารมณ์ของการเผยแพร่ข่าวหวังผลประโยชน์หรือไม่ เช่น ถ้าเป็นเพื่อการขายของ ให้ระวังไว้ก่อนว่าจะเป็นข่าวปลอม, Over ข่าวที่เกินความจริง ควรตระหนักว่าจะเป็นข่าวปลอม และ Time ควรตรวจสอบเวลาและสถานที่ของข่าวนั้นๆ เช่น การโพสต์/แชร์ข่าวที่นานมาแล้ว แต่เพิ่งมาเผยแพร่ซ้ำ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นข่าวปัจจุบัน หรือภาพเหตุการณ์ที่ต่างประเทศ แต่อ้างว่าเกิดในประเทศไทย เป็นต้น
“ถ้าผู้เสพข่าวใช้หลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ และตรวจสอบจากหลายๆ แหล่ง ก็จะทราบว่าข่าวในลักษณะนี้เป็นข่าวปลอม และไม่ควรเผยแพร่ต่อ” นายภุชพงค์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวปลอม ! รัฐบาลอนุมัติแล้ว แจกเงินเยียวยา 4,000 บาท รอบ 2
จับตาโควิดรอบใหม่ดันเฟคนิวส์สุขภาพ/ภัยพิบัติพุ่ง
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผย 1 ปีดำเนินคดีผู้กระทำผิดแล้ว 61 ราย